บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์, มกราคม 24, 2554

การศึกษา : การจัดการความเสี่ยงของสถาบันการศึกษา

การศึกษา : การจัดการความเสี่ยงของสถาบันการศึกษา
สุดารัตน์ สุวารี*
บทนำ
ภาวะเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกระบบของการทำงาน เป็นความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่อาจส่งผลขัดขวางต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบันการศึกษา และหากภาวะเสี่ยงนั้นเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นภายในสถาบันการศึกษา ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร หรือต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ หรือต่อความมั่นคงทางการเงินของสถาบัน อันเนื่องมาจากความบกพร่องของสถาบันในการควบคุมหรือจัดการกับความเสี่ยง หรือปัจจัยเสี่ยงที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะยิ่งเป็นภาวะที่สถาบันการศึกษาต้องเร่งรีบในการจัดการเพื่อลดภาวะเสี่ยงดังกล่าวให้ลดน้อยที่สุดหรือไม่ให้เหลือภาวะเสี่ยงเลย
บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการเสนอภาวะเสี่ยงของสถาบันการศึกษา การบริหารความเสี่ยงตามหลักการแนวปฏิบัติที่เหมาะสม พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการศึกษาและการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการศึกษา ทั้งนี้อาจเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการนำไปประยุกต์ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของสถาบันการศึกษาได้อย่างครอบคลุมต่อไป
การศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ดังนี้ “การศึกษาหมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
                ปัจจุบันมีสถานศึกษาหลายประเภทเป็นผู้จัดการศึกษา ได้แก่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย สถานศึกษาในปัจจุบันได้นำความหมายของการศึกษามาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมนักศึกษาเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาตามพระราชบัญญติการศึกษา

*นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษาและภาวะผู้นำ  มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น รุ่น 7

                เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว สถาบันการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษามีความเชื่อมั่นในผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการดำเนินงานของสถาบัน
ความเสี่ยง
ความเสี่ยงมีความหมายในหลายนัย ในด้านการจัดการ เจนเนตร (2548: 5) ให้ความหมายของความเสี่ยง (Risk) ว่าหมายถึงโอกาสที่องค์การจะเกิดการดำเนินผิดพลาดหรือเสียหาย ไม่ประสบผลสำเร็จตามแผนงานหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือความเป็นไปได้อันที่จะเกิดความสูญเสียขึ้น หรืออุปสรรคที่มากระทบต่อองค์การ เจริญ เจษฎาวัลย์ (2546, 15) ให้ความหมายว่าเป็นโอกาสที่องค์การจะเกิดการดำเนินงานที่ขาดทุนหรือไม่ สามารถดำเนินการให้ประสบความสำเร็จตามแผนงานหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ กฤษดา แสวงดี (2542) กล่าวว่า ความเสี่ยงหมายถึงโอกาสที่จะประสบกับการบาดเจ็บ หรือความเสียหาย เหตุร้าย อันตราย ความสูญเสีย รวมทั้งโอกาสที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอน หรือการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล
กล่าวโดยสรุป ความเสี่ยง คือ เหตุการณ์ การกระทำใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และจะส่งผลกระทบ หรือสร้างความเสียหาย หรือความล้มเหลว หรือลดโอกาสที่จะบรรลุความสำเร็จต่อการบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ทั้งในระดับองค์การ ระดับหน่วยงานและระดับบุคคลได้
ธร สุนทรายุทธ์ (2550: 167) จำแนกความเสี่ยงเป็น 2 ประเภท ได้แก่ความเสี่ยงโดยทั่วไป ซึ่งเป็นการมองความเสี่ยงโดยภาพรวมขององค์การนั้นๆ กับความเสี่ยงเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเป็นการพิจารณาลักษณะความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่  ความเสี่ยงโดยทั่วไปช่นความเสี่ยงที่เกิดจากโครงสร้างขององค์กรที่สลับซับซ้อนทำให้การควบคุมภายในเป็นไปไม่ทั่วถึง ความเสี่ยงที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ขององค์กร ความเสี่ยงที่เกิดจากความสามารถในการบริหารจัดการของผู้บริหาร ความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตในหน้าที่การงาน ความเสี่ยงที่เกิดจากระบบงานที่เปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรขาดคุณภาพ เป็นต้น สำหรับความเสี่ยงเฉพาะพื้นที่ จะมุ่งประเด็นไปในปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยภายในสถานศึกษา เช่นโครงสร้างนโยบายสถานศึกษา ที่ไม่เหมาะกับสภาพของสถานศึกษา ระบบการรายงานและสั่งการที่ไม่เหมาะสม วิสัยทัศน์และพันธกิจไม่ชัดเจน ความเสี่ยงด้านผลผลิตและการบริการ ได้แก่คุณภาพของผู้เรียนที่ไม่เป็นไปตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (2553: 137)ได้กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาวิเคราะห์และระบุความเสี่ยงในประเด็นต่างๆ เช่น ความเสี่ยงด้านทรัพยากร (การเงิน งบประมาณ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อาคารสถานที่) ความเสี่ยงด้านยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์ของสถาบัน ความเสี่ยงด้านนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน เช่นความเสี่ยงของกระบวนการบริหารหลักสูตร การบริหารงานวิจัย ระบบงาน ระบบประกันคุณภาพ ความเสี่ยงด้านบุคลากรและความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล โดยเฉพาะจรรยาบรรณของอาจารย์และบุคลากร ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ภายนอก และความเสี่ยงด้านอื่นๆ ตามบริบทของสถาบัน
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (2553, 137) ได้ให้แนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานด้านการบริหารความเสี่ยงของสถาบันอุดมศึกษาไว้ตามหลักการของวงจรคุณภาพ (PDCA) โดยเริ่มต้นจากการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงและตัวแทนที่รับผิดชอบในแต่ละพันธกิจของสถาบัน มีการระบุรายละเอียดการทำงานของคณะกรรมการหรือคณะทำงาน เช่นนโยบายหรือแนวทางในการดำเนินงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ กำหนดระยะเวลาให้มีการประชุมของคณะกรรมการหรือคณะทำงานอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นต้องมีการวิเคราะห์และระบุความเสี่ยงและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงตามบริบทของสถาบัน โดยการวิเคราะห์และระบุความเสี่ยงพร้อมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายหรือล้มเหลวหรือลดโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายในการบริหารการศึกษา ซึ่งประเด็นความเสี่ยงที่นำมาพิจารณาควรมองถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสถาบันด้านชื่อเสียง คุณภาพการศึกษา รวมถึงความสูญเสียทางด้านชีวิต บุคลากร และทรัพย์สินของสถาบันเป็นสำคัญ โดยที่ปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอาจใช้กรอบแนวคิดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน อาคารสถานที่ อุปกรณ์ วิธีการปฏิบัติงาน สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก เป็นต้น ทำการจัดลำดับความเสี่ยงของปัจจัยเสี่ยง โดยพิจารณาจากมิติของโอกาสและผลกระทบจากความเสี่ยง  ต่อไปสถาบันจะต้องประเมินโอกาสและผลกระทบของความเสี่ยงและจัดลำดับความเสี่ยงที่วิเคราะห์ได้ การประเมินโอกาสความเสี่ยง ให้ประเมินจากความถี่ที่เคยเกิดเหตุการณ์เสี่ยงในอดีต หรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ในอนาคต โดยคาดการณ์จากข้อมูลในอดีต รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงในปัจจุบัน สำหรับการประเมินผลกระทบของความเสี่ยง ให้ประเมินจากความรุนแรง ถ้ามีเหตุการณ์เสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้น โดยจะมีความรุนแรงมาก ถ้ากระทบต่อความเชื่อมั่นต่อคุณภาพทางการศึกษาของสถาบัน ฐานะการเงิน ขวัญกำลังใจและความปลอดภัยของบุคลากรเป็นต้น  ขั้นตอนต่อไปคือการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงที่มีระดับความเสี่ยงสูงและดำเนินตามแผน มาตรการที่ใช้ควบคุมความเสี่ยงใช้เทคนิค 4 T คือ Take การยอมรับความเสี่ยง Treat การลดหรือควบคุมความเสี่ยง Transfer การโอนหรือกระจายความเสี่ยง และ Terminate การหยุดหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เพื่อลดมูลเหตุของแต่ละโอกาสที่สถาบันจะเกิดความเสียหาย ทั้งในรูปแบบของตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เช่นชื่อเสียง การฟ้องร้องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลหรือความคุ้มค่า คุณค่า  เมื่อมีการดำเนินการตามแผนแล้ว ต่อไปจะต้องมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน สรุปผลการดำเนินงานและประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข รายงานต่อสภาสถาบันเพื่อพิจารณาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และสถาบันจะต้องนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะจากสภาพสถาบันไปใช้ในการปรับแผนหรือวิเคราะห์ความเสี่ยงในรอบปีถัดไป
สถาบันการศึกษาอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกันตามบริบทและวัตถุประสงค์ของแต่ละสถาบัน  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2553) ได้ระบุว่ามีปัจจัยความความเสี่ยงของมหาวิทยาลัย มี 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน เช่น นิสิตที่เข้ามาไม่มีคุณภาพตามที่สาขาวิชากำหนด ด้านการวิจัย เช่น ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มีจำนวนไม่ถึงเป้าหมาย ด้านการบริหารการเงิน บัญชี เช่น รายงานทางการเงินบางส่วนยังไม่ถูกต้อง ด้านการบริหารสารสนเทศ เช่น ขาดแคลนบุคลากรทำหน้าที่พัฒนาระบบสารสนเทศ เป็นต้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2550) จำแนกความเสี่ยงตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 ด้านคือ 1) ความเสี่ยงด้านการเรียนการสอน เช่นความเสี่ยงในด้านการวัดประเมินผล กระบวนการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร ตำราเอกสาร คุณภาพวิทยานิพนธ์ การคัดเลือกนิสิต ปัจจัยสนับสนุนการเรียนการสอน 2) ความเสี่ยงด้านการวิจัย เช่นความเสี่ยงด้านเงินสนับสนุนการวิจัยงานตีพิมพ์เผยแพร่ 3) ความเสี่ยงด้านบริการและสนับสนุน เช่นระบบคุณภาพของหน่วยงาน ระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ การไม่สามารถรักษาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอยู่กับองค์กรได้ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและการรักษาทรัพย์สิน ความเสี่ยงทางการเงิน กลยุทธ์ที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์หรือวัตถุประสงค์ขององค์การ 4) ความเสี่ยงด้านบริการวิชาการ เช่นคุณภาพของกิจกรรมหรือการบริการวิชาการไม่ดีพอ การสื่อสารหรือตอบสนองผู้รับบริการไม่รวดเร็ว การรับตัวอย่างในการวิเคราะห์ห้องปฏิบัติการ Stanford University (2010) ระบุว่ามีปัจจัยเสี่ยงของมหาวิทยาลัยได้แก่ ความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงด้านการเมือง ความเสี่ยงด้านการปฏิบติตามกฎระเบียบ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ/ธุรกิจ ความเสี่ยงทางด้านสังคม และความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยี
ดวงใจ ช่วยตระกูล (2552) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “การบริหารความเสี่ยงในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาข้นพื้นฐาน สรุปว่าปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมี 9 ด้าน ด้านแรกได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงด้านการเงิน ครอบคลุมความเสี่ยงในการจัดสรรงบประมาณการบริหารพัสดุและสินทรัพย์ ค่าใช้จ่ายรายหัว การจัดทำบัญชีการเงิน ใบเสร็จรับเงิน การใช้จ่ายเงิน เงินยืม การจัดทำทะเบียน ปัจจัยเสี่ยงด้านต่อๆ ไปได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ครอบคลุมความเสี่ยงในเรื่องหลักสูตร การวัดและประเมินผล กระบวนการเรียนรู้ การระดมทรัพยากร แหล่งเรียนรู้ การนิเทศ การแนะแนว การประกันคุณภาพ การปฏิบัติงานของบุคลากร การมีส่วนร่วมในเรื่องของหลักสูตร การพัฒนาโรงเรียนและพฤติกรรมนักเรียน การเรียนการสอน งานธุรการ การกำกับติดตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านกลยุทธ์/ยุทธศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ระเบียบวินัย การควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน ปัจจัยเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครอบคลุมความเสี่ยงด้านการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมความเสี่ยงในด้านสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกสถานศึกษา ปัจจัยเสี่ยงด้านร่างกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อตัวนักเรียน ปัจจัยเสี่ยงด้านความมั่นใจทางการศึกษา ครอบคลุมความเสี่ยงในเรื่องการร้องเรียน ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของสถานศึกษา และด้านสุดท้ายคือปัจจัยเสี่ยงด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยในสถานศึกษา ครอบคลุมความเสี่ยงในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง การเฝ้าระวังความเสี่ยง การฝึกซ้อมหรือการสอนวิธีการหลบภัยธรรมชาติ ระบบการดูแลความปลอดภัย
บทสรุป การศึกษากับการจัดการความเสี่ยงของสถาบันการศึกษา
การเสนอความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงของสถานศึกษาดังกล่าวมาแล้ว เป็นการมองภาพกว้างของความเสี่ยงของสถานศึกษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาในหรือต่างประเทศ มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่พบร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามโอกาสเสี่ยงและผลกระทบของความเสี่ยงต่อสถานศึกษาอาจแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละสถาบัน การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาในเรื่องการจัดการความเสี่ยงจึงน่าจะเป็นทางเลือกในการพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยงของสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนได้ตรงตามความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาตินั่นเอง


เอกสารอ้างอิง
เจริญ เจษฎาวัลย์.(2548). การบริหารความเสี่ยง, พิมพ์ครั้งที่ 2 ,กรุงเทพฯ : บริษัท พอดี จำกัด.
เจนเนตร มณีนาคและคณะ. (2548). การบริหารความเสี่ยงระดับองค์กรจากหลักการสู่ภาคปฏิบัติ,
กรุงเทพฯ: บริษัทไฟนอล การพิมพ์.
ธร สุนทรายุทธ.(2550). การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการศึกษา. กรุงเทพฯ : บริษัทเนติกุลการ
พิมพ์ จำกัด.
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, แผนบริหารความเสี่ยงประจำปีการศึกษา 2553 (ออนไลน์), เข้าถึงเมื่อ
วันที่ 1 ตุลาคม 2553. เข้าถึงได้ที่ http://ia.psd.ku.ac.th/RSK/rsk_v2/rpt_pdf/Binder %20U2.pdf
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2550). “เอกสารประกอบการประชุมการบริหารความเสี่ยงและการวาง
ระบบการควบคุมภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”, เมษายน พ.ศ. 2550.
สภาการศึกษาแห่งชาติ. (2545) .พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พ.ศ. 2545. เอกสารอัดสำเนา.
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.(2553) คู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน
สถานศึกษา ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2553 (ฉบับเดือนกรกฎาคม 2553). เอกสารอัดสำเนา.
Stanford University, Risk Management Department. (online),accessed 1 october 2010. Available
from http://www.stanford.edu/dept/Risk-Management/about/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น