การศึกษากับการพัฒนาความเป็นมนุษย์
พระสมุห์สุรเชษฐ์ หนูเอี่ยม*
บทนำ
การศึกษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการเรียนรู้เสมอ ทั้งความสำคัญของการเรียนรู้จะทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้และเป็นผู้รับการฝึกอบรมให้พัฒนาขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองเพื่อมีชีวิตอยู่รอดส่วนหนึ่ง และเรียนรู้ได้โดยกระบวนการศึกษาอบรมอีกส่วนหนึ่ง เป้าหมายที่สำคัญของการศึกษา คือ การเปลี่ยนผู้เรียนจากผู้ไม่รู้ สู่ผู้รู้ และเห็นได้จากการมีวิธีคิด จิตสำนึก ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อตอนที่ยังไม่รู้และเกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า การศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นสร้างผู้เรียนให้เป็นเพียงผู้จำอย่างเดียวและเป็นเพียงการจำเพื่อไปสอบและเพื่อไปแข่งขัน สร้างให้ผู้เรียนมีสภาพเป็นตำราที่เดินได้ โดยไม่ได้นำเอากระบวนการ “การเปลี่ยนคน สร้างสรรค์สังคม” มาเป็นเป้าหมายสำคัญของการศึกษา ทำให้การศึกษาเป็นประหนึ่งคำที่หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวว่า “การศึกษา หมาหางด้วน” ที่ขาดมรรควิธีในการพัฒนา “คน” เพื่อความเป็น “มนุษย์” ที่สมบูรณ์ มีความรู้คู่คุณธรรม
1. ความหมายของการศึกษากับการพัฒนาความเป็นมนุษย์
การศึกษา หรือ “Education” มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า “Educare” มีความหมายตรงกับคำว่า “Bring up” หมายถึง การดึงออก การศึกษามิใช่การใส่เข้าไป (put in) แต่หมายถึง การดึงเอาความรู้ หรือสิ่งที่มีอยู่ในผู้เรียนออกมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด (สนิท ศรีสำแดง,มปพ.)
ตามทัศนะนี้ถือว่า ผู้เรียนทุกคนมีความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว การศึกษาจึงเป็นเพียงการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วนั้นให้เจริญงอกงามขึ้นเท่านั้น ตามแนวความคิดนี้ผู้สอนจึงมีฐานะเป็นเพียงGuide คือผู้ชี้แนะแนวทางเท่านั้น ซึ่งตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น เรื่องการปฏิบัติหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของท่าน (อกฺขาตาโร ตถาคตา)
การศึกษาคือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพฤติกรรม พัฒนาได้ด้วยศีล ด้านจิตใจ พัฒนาได้ด้วยสมาธิ และด้านความรู้ พัฒนาได้ด้วยปัญญา ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็น 3 ด้านของชีวิตที่ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ การพัฒนาในลักษณะนี้จะเป็นการพัฒนาอย่างประสานกลมกลืนส่งผลเกื้อกูลกันไปด้วยดีทั้งระบบตามแนวพุทธจริยธรรม ที่เป็นเรื่องที่คอบคลุมทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เป็นการพัฒนาชีวิตทั้งหมด (พระธรรมปิฏก (ปอ.ปยุตฺโต),2540 หน้า 142-146)
*นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษาและภาวะผู้นำ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น รุ่น 7
นอกจากนี้พระธรรมปิฏก (ปอ.ปยุตฺโต) ยังได้เสนอหลักการตรวจสอบ่า การศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ถูก หรือ ผิด ไว้ดังนี้
“ถ้าหากว่าการศึกษาทำให้คนมีความรู้มากขึ้น แต่มีความสุขน้อยลง มีความทุกข์มากขึ้น ก็แสดงว่าการศึกษานั้นก็คงจะผิด”
“ถ้าหากว่าการศึกษาทำให้คนมีความรู้มากขึ้น แต่มีความดีงามน้อยลง มีความชั่วมากขึ้น ก็แสดงว่าการศึกษานั้นก็คงจะผิด”
“ถ้าหากคนมีความดีงาม โดยไม่มีความรู้ ก็ผิดเหมือนกัน เพราะเป็นความงามโดยความหลงงมงาย ไม่ได้เป็นไปด้วยความรู้ ไม่ได้เป็นไปด้วยปัญญา”
“ถ้ามีความสุขโดยไม่มีปัญญา ไม่มีความดีงาม ก็ผิดอีก”
“การศึกษาให้ครบทั้ง 3 อย่าง ในการพัฒนานี้จะต้องดูว่าผู้ที่ได้รับการศึกษา คือ คนที่เราสอนหรือให้การศึกษานี้ มีปัญญาเพิ่มขึ้นไหม มีความดีงามและความสุขหรือภาวะไร้ทุกข์หรือไม่” (พระเทพเวที (ปอ.ปยุตฺโต),2531 หน้า 64)
ฉะนั้นการศึกษาจึงเป็นกระบวนการถ่ายทอด “ความรู้” และ “ความดี” จากคนรุ่นหนึ่ง ไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง และทำให้เกิดความเจริญงอกงามขึ้นในตัวบุคคล ช่วยให้บุคคลนั้นมีการพัฒนาชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น รู้จักใช้ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้นั้นมาแก้ปัญหา สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างดีและมีความสุข นอกจากนี้ การศึกษายังเป็นกระบวนการพัฒนากาย จิต และปัญญา ทำให้มนุษย์เป็นอิสระอยู่เหนือสัญชาตญาณฝ่ายต่ำ และมีความสมบูรณ์ในตัวเองมากยิ่งขึ้น
2. ความรู้คู่คุณธรรม
การศึกษาจะต้องมีการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน คือ การพัฒนาผู้เรียนให้ครอบคุลมในหลายมิติ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคมและอารมณ์ ทั้งนี้ ตามรายงานขององค์การยูเนสโกเรื่องการศึกษาคือขุมทรัพย์ภายใน (Learning: The Treasure Within) (องค์การยูเนสโก. 1996 (2539)) ที่กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 ได้เสนอจตุสดมภ์การศึกษา (Four Pillars of Education) กล่าวคือความสมบูรณ์ของการศึกษาประกอบด้วยเสาหลักการศึกษา 4 ประการ (พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), 2546 หน้า 5) ได้แก่
1. การศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพ (Learning to Know) ได้แก่การเรียนเพื่อรู้ หมายถึงการเรียนเพื่อเตรียมเครื่องมือสำหรับการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต เช่น คนไทยต้องเรียนภาษาไทยให้อ่านออกเขียนได้เพื่อจะได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป หรือการเรียนด้านภาษาสากล การเรียนคอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาความรู้ เนื่องจากข้อมูลความรู้ได้บรรจุไว้ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเขียนเป็นภาษาสากล (ภาษาอังกฤษ)
เสาหลักการศึกษาประการแรกนี้ ยังรวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจผู้เรียน ให้มีความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อ ได้แก่การเรียนการสอนที่เกิดความสนุก อยากเรียน รักที่จะเรียนรู้ มีความสุขในการเรียนและการแสวงหาความรู้ เพราะการมีสุขภาพจิตที่ดี
2. การศึกษาเพื่อพัฒนาสมรรถภาพ (Learning to do) ได้แก่เรียนเพื่อทำได้ สมรรถภาพ คือ ความสามารถในการนำความรู้มาปฏิบัติให้บรรลุผลตามความมุ่งหวัง การเรียนเพื่อให้ทำได้ก็คือการเรียนเพื่อใช้ความรู้ในการทำงาน การประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นผลของการเรียนที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ
การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องพัฒนาคนให้มีความสามารถหลากหลาย (Personal competence) สามารถทำงานได้หลายอย่างโดยอาศัยเครื่องจักรลดกำลังแรงกาย และอาศัยคอมพิวเตอร์ลดกำลังสมองในการคิด รวมทั้งความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เพื่อเสริมสร้างการทำงานเป็นทีมให้เข้มแข็ง นั่นก็คือทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ (People Skills) ของผู้เรียน และความสามารถในการบริหารจัดการ การมีคุณธรรมภายในจิตใจ เช่น ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตว์ การตรงต่อเวลา เป็นต้น
3. การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ (Learning to live together) ได้แก่การใช้ความรู้ความสามารถเพื่อสังคมส่วนรวม เสาหลักการศึกษา 2 ประการแรกเป็นการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเก่งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในประการที่สามนี้เป็นศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้ความรู้ความสามารถในการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพด้วยการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม นั่นก็คือการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันฉันญาติมิตร
โลกในศตวรรษที่ 21 จะมีความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรงค่อนข้างสูง จากสาเหตุหลักของความขัดแย้ง คือ ความนิยมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการพลีชีพเพื่อให้อีกฝ่ายตายตามไปด้วย โลกมีการแข่งขันกันในทุก ๆ ด้านสูง ซึ่งการแข่งขันมีเป้าหมายเพื่อชัยชนะ ทุกภาคส่วนของสังคมถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่วงจรของการแข่งขัน ภายใต้การนำเสนอข่างของสื่อมวลชนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และทุกคนสามารถรับรู้เหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ได้พร้อมกันทั่วทั้งโลก
การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสลายความรุนแรงและความขัดแย้งดังกล่าว ด้วยการหันหน้าเจรจาและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีความรู้ความเข้าใจในมิติที่แตกต่างกันในด้านชาติพันธุ์ ศาสนา และความเป็นอยู่
4. การศึกษาเพื่อพัฒนามนุษยภาพ (Learning to be) ได้แก่การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ กล่าวคือเมื่อผู้เรียนจบการศึกษาไปแล้วเขาจะต้องเป็นอะไรที่มากกว่าเครื่องจักรในโรงงาน มากกว่าความเป็นแรงงานราคาถูก และมากกว่าความเป็นทรัพยากรมนุษย์หรือสัตว์เศรษฐกิจ นั่นก็คือการศึกษาต้องไม่กดคนให้ต่ำลงมีค่าเพียงทรัพยากรหรือเครื่องจักรชิ้นหนึ่ง แต่ต้องพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เต็มตามศักยภาพในทุกมิติ
แท้ที่จริงแล้วเสาหลักทางการศึกษาตามรายงานขององค์การยูเนสโกนี้ มิใช่เป็นเรื่องใหม่เลยสำหรับระบบการศึกษาไทย ทั้งนี้ หากเรามองย้อนไปถึงระบบการศึกษาของไทยในอดีตที่การศึกษาไทยยึดหลักการศึกษาตามแนวพระพุทธศาสนา จะพบว่าการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้ครบทั้ง 4 ด้านนี้ เป็นการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนากล่าว คือ
1. กายภาวนา คือ การศึกษาเพื่อการพัฒนาทางด้านร่างกาย เพื่อให้มีทักษะในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามแนวหัตถศึกษา
2. สีลภาวนา คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาด้านสังคม เพื่อปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ อยู่ในสังคมได้ รู้จักบริหารจัดการที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรมตามแนวจริยศึกษา
3. จิตภาวนา คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาทางจิต เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่ดูถูกตนเอง ไม่ดูถูกท้องถิ่น มีสุขภาพจิตดี มีความสุขตามสมควรแก่ฐานะ จัดเป็นสุขศึกษาที่เน้นทั้งสุขกายและสุขใจ
4. ปัญญาภาวนา คือ การพัฒนาทางปัญญา เพื่อให้มีอิสระทางความคิด ได้แก่การคิดเป็นตามหลักโยนิโสมนสิการ แสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องทุกเวลา มีความรู้พอเพียงต่อการแก้ไขปัญหา กล่าวคือการมีทักษะในการแก้ปัญหาชีวิต เทียบได้กับพุทธิศึกษา
ความคาดหวังอันจะเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไปสู่เป้าหมายดังกล่าวก็คือ “การศึกษา” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญและจำเป็นที่สุด รากฐานของการศึกษาที่วางอยู่บนฐานที่ถูกต้องจึงเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันสังคมให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จคืออุดมคติที่วางไว้ เมื่อพิจารณาระบบการศึกษาของ
สังคมไทยปัจจุบัน จะพบว่ายังอยู่ห่างไกลจากจุดประสงค์ของการศึกษาดังกล่าว อันสืบเนื่องมาจาก
ความบกพร่องหรือความล้มเหลวทางการศึกษาหลายประการด้วยกันที่ปลูกฝังให้แก่ผู้ศึกษา เช่น เป้าหมายของการศึกษาคือความเป็นเลิศทางวิชาการ (เน้นความรู้แต่ขาดจริยธรรม) ความเชื่อ และ
ค่านิยม โดยเฉพาะเรื่องค่านิยมทางการศึกษาในสังคมไทยนั้น ถือว่ามีความบกพร่องประสบความ
ล้มเหลว ถึงจุดที่จะต้องแก้ไข
3. การเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยผ่านกระบวนการตามหลักไตรสิกขา
ระบบการศึกษาของพระพุทธศาสนาจึงมีหน้าที่ที่สำคัญ คือ การเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างคนให้เจริญด้วยกระบวนการตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา โดยกระบวนการพัฒนา ดังนี้ (ขันทอง วิชาเดช. 2547 หน้า 8 - 12)
3.1 การพัฒนาค่านิยม : กิน กาม เกียรติ
ระบบการศึกษาในสังคมไทยปัจจุบัน จัดระบบการศึกษาตามแบบอย่างของการศึกษา
ระบบตะวันตกซึ่งเน้นหนักหรือให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัตถุภายนอกมากกว่าจะพัฒนาจิตใจ
ภายใน ขาดหลักพุทธธรรมของพุทธศาสนา หรือบทบาททางศาสนาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องชี้แนะ
กระบวนการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น ผู้ศึกษาจึงห่างไกลจากหลักศีลธรรม จริยธรรม คุณค่าความหมายของการศึกษา ตลอดจนค่านิยมทางการศึกษาก็บิดเบือน คลาดเคลื่อนห่างไกลจากหลัก
พุทธธรรม การศึกษากลายเป็นเพียงเพื่อความอยู่รอด มิใช่เพื่อพัฒนาชีวิตให้ประสบกับความสุข
ฉะนั้น การศึกษาในสังคมไทยปัจจุบัน จะต้องเป็นการพัฒนาปรับทิศทางให้ผู้รับการศึกษามีค่านิยมที่ถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนาคือ ค่านิยมแห่งการไม่เบียดเบียนกัน ไม่ใช่เห็นกันเป็นเหยื่อเป็นการศึกษาเพื่อมนุษย์จะมีโอกาสได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ โดยการทำลายเสียซึ่งสัญชาตญาณอย่างสัตว์ แล้วมีการประพฤติกระทำอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงโดยสมบูรณ์ (พุทธทาสภิกขุ, 2517 หน้า 43) คือต้องมีเมตตาธรรมซึ่งตรงกันข้ามกับความเบียดเบียน หรือดังที่เรียกกันในปัจจุบันว่าหลักอหิงสา ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทางจิตใจ 4 ประการคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมภายนอกต่อบุคคลในสังคมรอบข้างด้วยสังคหวัตถุ 4 อย่าง คือ (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2527หน้า 183-185)
3.1.1 ทาน หมายถึง การช่วยเหลือเผื่อแผ่แบ่งปันสิ่งของ ซึ่งแสดงออกมาเป็นความเมตตา กรุณา
3.1.2 ปิยวาจา ได้แก่ การช่วยแนะนำตักเตือนด้วยถ้อยคำที่มีเหตุผลอันประกอบด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์และมีเมตตา คือ ต้องการให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และมีความสุข ให้เขาพ้นจากความทุกข์ ปิยวาจารวมถึงความมีน้ำใจต่อกันด้วยการกล่าวถ้อยคำสุภาพอ่อนโยน
3.1.3 อัตถจริยา หมายถึง การกระทำกิจการงานต่าง ๆ ขวนขวายในการบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือรับใช้บริการ ส่งเสริมสนับสนุนการงานของตนและผู้อื่น
3.1.4 สมานตัตตา ได้แก่ การวางตัวหรือปรับตัวให้เข้ากับบุคคลในสังคมได้ เช่น วางตนเสมอเข้ากันได้ ไม่มีความถือตัว มีความยุติธรรม ร่วมมือ ร่วมกิจกรรม ดังคำว่า มีสุขก็ร่วมสุข มีทุกข์ก็ร่วมต้าน
หลักสังคหวัตถุ 4แสดงให้เห็นถึงวิธีการปฏิบัติต่อกันโดยผ่านกระบวนการศึกษาในพุทธศาสนา ซึ่งไม่ใช่สอนให้ละเลิกทรัพย์สมบัติโดยไม่สนใจใยดี หรือไม่ต้องการเสพสิ่งวัตถุใด ๆ หรือไม่สนใจในเกียรติยศชื่อเสียงต่าง ๆ แต่ตรงกันข้ามพุทธศาสนากลับให้ความสำคัญแก่สิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมากเพราะถือว่า เป็นปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างหนึ่ง
ดังนั้น บทบาททางการศึกษาของพุทธศาสนาจึงสอนให้มีการเก็บทรัพย์ รักษาทรัพย์ หาทรัพย์และใช้จ่ายทรัพย์ ยินดีส่งเสริมเรื่องการแสวงหาทรัพย์ด้วยความขยันหมั่นเพียร การได้มาซึ่งทรัพย์และชื่อเสียงความยกย่องจากสังคมนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรม มีคุณธรรมอันเกิดจากความดีของตนเองเป็นหลัก สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้ศึกษาควรจะได้รับจึงมิใช่เรื่องของความเอร็ดอร่อยของการเสพวัตถุทางอินทรีย์ทั้ง 5 แต่เป็นการกินอยู่และดำเนินชีวิตแบบพอดี หรือที่เข้าใจกันดีในหลักธรรมทางพุทธศาสนาว่า ความสันโดษ คือสันโดษด้วยปัจจัย 4ที่ตนหามาได้เป็นของตน ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามโดยชอบธรรม และการเสพปัจจัย 4 นั้นก็กระทำด้วยความรู้เท่าทันอย่างมีสติปัญญา ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ ไม่แก่งแย่งแข่งชิง หรือไม่เบียดเบียนกัน
ฉะนั้น การศึกษาตามลักษณะของพุทธศาสนาก็คือ การแนะนำฝึกฝนพัฒนาคนให้รู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อดำเนินชีวิตถูกต้องก็มีความสุข การศึกษาที่ถูกต้องจึงทำให้คนมีความสุข (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2530 หน้า 106)
พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความสุขเนื่องจากสภาพที่ไร้ปัญหา ไม่มีความทุกข์บีบคั้นภายในจิตใจ เปิดโอกาสให้ปัญญาคิดพิจารณาเข้าใจคุณค่าต่าง ๆ ทั้งความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และเป็นที่แสดงออกของคุณธรรมต่าง ๆ เช่น เมตตา กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความนุ่มนวล สุภาพอ่อนโยน นอกจากจิตใจจะสร้างบรรยากาศที่ร่าเริงแล้ว สังคมคนรอบข้างก็พลอยได้รับความสุขสดใสไปด้วย เพราะไม่มีความหวาดระแวงต่อกัน
ระบบการศึกษาของพุทธศาสนา นอกจากจะพัฒนาค่านิยมเรื่องเสพสิ่งวัตถุให้ถูกต้องชอบธรรมแล้ว ยังมีหน้าที่ในการพัฒนาคน พอสรุปได้ 4 ลักษณะดังนี้ คือ (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2530 หน้า 108)
1) ฝึกฝนพัฒนาคนให้รู้จักปฏิบัติต่อชีวิต หรือดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องมีความสุข
2) สอนให้คนรู้จักแก้ปัญหาชีวิตและสละเสียซึ่งความทุกข์ได้ด้วยดี โดยไม่ก่อให้เกิดโทษแก่ผู้อื่นและแก่สังคม
3) พัฒนาคนให้รู้จักแสวงหาและเสพความสุขทางวัตถุอย่างถูกต้อง ปราศจากโทษพิษภัยไร้การเบียดเบียน และพร้อมที่จะใช้สิ่งอำนวยความสุขนั้น ๆ ในทางที่เกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่สังคม
4) พัฒนาคนให้พร้อมและมีความสามารถบางอย่างในการที่จะเอื้ออำนวยความสุขแก่ผู้อื่นและแผ่ขยายความสุขออกไปในสังคม
กระบวนการพัฒนามนุษย์ ให้มีความสุขที่แท้จริงด้วยระบบการศึกษาตามแนวพุทธธรรมก็เพื่อให้มนุษย์ได้พบกับอิสรภาพ สันติคือ ความสงบ หรือภาวะที่ความเดือดร้อนวุ่นวายและความบีบคั้นกระวนกระวายระงับดับสิ้นไปนั่นเอง
3.2 ค่านิยมความเป็นเลิศทางวิชาการ : แผ่ประสานจริยธรรม
พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งคำสอนและระบบจริยธรรมที่ซึมซ่านแผ่กระจายไปทั่ว ฝังลึกลงในพื้นฐานของสังคมไทยทุกด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันผู้คนห่างเหินจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา สืบเนื่องมาจากมีปัจจัยแปลกใหม่จากภายนอกเข้ามาปะปนส่งผลกระทบอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านการศึกษานั้นมีผลกระทบโดยตรงเพราะขาดจริยธรรม หรือเหินห่างจากหลักพุทธธรรมจนเฉออกไปเป็นระบบการศึกษาที่ปลูกฝังค่านิยมอย่างผิดพลาด เช่น เน้นให้ผู้ศึกษามีความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ขาดคุณธรรมในการรับผิดชอบต่อคุณค่าของการศึกษาที่แท้จริง ดังนั้นบทบาทของพุทธธรรมจึงจำเป็นที่จะต้องขัดเกลาผู้ศึกษาให้มีความรู้ความสามารถดี ต้องมีคุณธรรมและความประพฤติที่ดีเลิศ ตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า วิชชา จรณะสัมปันโน
เมื่อจริยธรรมทางพุทธศาสนามีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการศึกษา ระบบการศึกษาในสังคมไทยจะต้องนำเอาจริยธรรมหรือนำพระพุทธศาสนามาใช้ในการเรียนการสอน จริยศึกษา เพื่อให้สอดคล้อง ประสานกลมกลืนกับรากฐานเดิมของสังคม
จริยศึกษาแบบพุทธ ก็คือ กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั่นเอง ดังนั้น เมื่อสอนจริยธรรมโดยสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ หรือสอนโดยให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับจริยธรรมข้ออื่น ๆ ผู้เรียนก็จะมองเห็นภาพรวมของระบบความสัมพันธ์ หรือการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ทำให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเหตุผล และเห็นคุณค่าของจริยธรรมอย่างแท้จริง (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2530 หน้า 40)
จริยศึกษาซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือช่วยขัดเกลาให้ผู้ศึกษาสมบูรณ์ด้วยความเป็นเลิศทางวิชาการและประสานกลมกลืนกับจริยธรรมใน 2 ลักษณะ คือ 21
3.2.1 การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาคนให้เป็น “บัณฑิต” ผู้มีชีวิตที่ดีงาม ดำเนินชีวิตถูกต้อง และทำประโยชน์แก่สังคม
3.2.2 การศึกษาให้ “เครื่องมือ” แก่บัณฑิตเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม
ลักษณะของการศึกษาที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ได้ใน 2 ประการนี้ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ครู ผู้สอน หรือที่เรียกกันว่า ผู้ให้การศึกษา ซึ่งมีฐานะอยู่ 2 อย่าง คือ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต),2539 หน้า 11-12)
1) เป็นกัลยาณมิตรคือ เป็นผู้ชี้แนะหรือเป็นสื่อนำที่ช่วยให้บุคคลนั้น ๆ ศึกษาพัฒนาตนขึ้นไปเพื่อให้เขาเป็นบัณฑิต และในขณะเดียวกันครูเองก็ต้องเป็นบัณฑิต หรือเป็นนักปราชญ์
2) เป็นสิปปทายก หรือศิลปทายก คือเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการ ความชำนิชำนาญ ฝีมือและวิชาชีพต่าง ๆ ในฐานะนี้ ครูควรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ
การศึกษาที่เน้นจริยธรรมตามแนวพุทธศาสนามีความหมายว่า ครูผู้สอนหรือผู้มีหน้าที่ให้ความรู้จะต้องมีคุณธรรมเป็นแบบอย่างความประพฤติแก่ผู้รับการศึกษาได้ และผู้ศึกษาก็ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมเช่นเดียวกัน กลายเป็นว่าจริยธรรมเป็นส่วนผลักดันให้ผู้สอนและผู้เรียนต้องทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันเพื่อสร้างสรรค์ สร้างเสริมคุณธรรมให้แก่กันอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น การจะพัฒนาจริยธรรมจึงไม่ใช่การเพิ่มวิชาจริยธรรม แต่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดที่ทำให้เกิดปัญญา และเกิดจิตสำนึก (สัญญลักษณ์ เทียมถนอม บรรณาธิการ, 2528 หน้า 129). ในการที่จะสร้างค่านิยมทางการศึกษาได้ถูกต้อง
3.3 ค่านิยมการศึกษา : การเรียนรู้ตลอดชีวิต
กระบวนเรียนรู้การศึกษาในสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งการศึกษาในระบบ ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเด็กในวัยเรียน การศึกษานอกระบบ สำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในวัยเรียนหรืออยู่ในวัยเรียนแต่ไม่สามารถที่จะเข้าเรียนในระบบโรงเรียนได้ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการศึกษาที่ทุกคนสามารถจะเรียนรู้ได้ตลอดเวลาจากสิ่งแวดล้อม สังคม เป็นต้น จะต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนในสังคมโลกยุคใหม่จำเป็นต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา และการเรียนรู้ก็เป็นกิจกรรมที่ทำได้ตลอดชีวิต ซึ่งแตกต่างกันตามลำดับของวัยตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงตาย แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ (รุ่ง แก้วแดง,2541 หน้า. 78-87)
ระยะที่ 1การเรียนรู้ก่อนเกิด คือ การเรียนรู้ของผู้เป็นแม่ เกี่ยวกับการดูแลรักษาลูกในครรภ์ เช่น เรื่องอนามัย เรื่องโภชนาการ และเรื่องการพัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นการฝึกทักษะของลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในปัจจุบันทางการแพทย์และจิตวิทยาพิสูจน์แน่นอนแล้วว่า เด็กสามารถเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
ระยะที่ 2 การเรียนรู้ช่วงวัย 0-5 ปี ถือได้ว่าเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ เพราะวัยนี้สมองจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าเด็กที่อยู่ในวัยนี้ได้รับการพัฒนา และการกระตุ้นในทิศทางที่ถูกต้องแล้วจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ
ระยะที่ 3 การเรียนรู้ในช่วงอายุ 6-24 ปี ถือว่าเป็นวัยเรียนในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนกระทั่งถึงระดับอุดมศึกษา การเรียนในวัยนี้จะเป็นการเรียนเพื่อให้มีพัฒนาการด้านร่างกาย และด้านสติปัญญาอย่างสมบูรณ์
ระยะที่ 4 การเรียนรู้ช่วงวัยทำงาน (อายุ 25-60 ปี) คนวัยทำงานจะเริ่มเรียนรู้จากสื่อการศึกษาตามอัธยาศัยมากกว่าเรียนจากสถานศึกษา แต่จะมีการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานสื่อมวลชน สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้น
ระยะที่ 5 การเรียนรู้ช่วงวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สามารถเรียนรู้ได้มากมายหลายอย่าง โดยผ่านกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย เช่น ศิลปะ ดนตรี การท่องเที่ยวอย่างอนุรักษ์ หรือค้นคว้าหาความรู้ทางวิชาการด้านต่าง ๆ
3.4 กระบวนการเรียนรู้ : หลักไตรสิกขา
กิจกรรมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 5 ประการดังกล่าว จะต้องประสานให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามหลักของพระพุทธศาสนาซึ่งมีความสำคัญยิ่งคือ หลักไตรสิกขา ได้แก่ (พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2529 หน้า. 914-915)
3.4.1 อธิศีลสิกขา คือ การฝึกความประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ โดยความหมายแล้วก็คือ การดำเนินชีวิตให้อยู่ในสังคมด้วยดี ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างถูกต้อง มีความสัมพันธ์อันดีงามกับสังคมในทางที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ ช่วยรักษาและส่งเสริมสภาพแวดล้อม เพื่อให้ทุกคนสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม
3.4.2 อธิจิตสิกขา การฝึกอบรมในด้านคุณภาพและสมรรถภาพของจิต หรือการฝึกให้จิตมีความเข้มแข็ง มั่นคงแน่วแน่ มีสมาธิ มีกำลังใจสูง ให้เป็นจิตที่สงบ ผ่องใส อยู่ในสภาพเหมาะแก่การใช้งานมากที่สุด โดยเฉพาะการใช้ปัญญาอย่างลึกซึ้งและตรงตามความเป็นจริง
3.4.3 อธิปัญญาสิกขา คือ การฝึกปรือปัญญาให้บริสุทธิ์รู้แจ้งชัด เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงจนถึงความหลุดพ้น มีจิตใจเป็นอิสระ เบิกบานโดยสมบูรณ์ หลักไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการฝึกตนพัฒนาตนตลอดชีวิต ทำให้ผู้ศึกษาเจริญงอกงามทำให้ชีวิตดีขึ้นทั้งด้านความประพฤติ การอยู่ร่วมในสังคม จิตใจ และปัญญา และมีวิสัยแห่งการพัฒนา
ได้อย่างสูงสุด ซึ่งก็คือการดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวมนุษย์แต่ละคนออกมาพัฒนาให้งอกงามเต็มที่
และใช้ให้ได้ผลดีที่สุด เพราะพระพุทธศาสนานั้นมีความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ดังข้อความพุทธคุณบทหนึ่งว่า ปุริสทมฺมสารถิ แปลว่า พระพุทธเจ้าเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ เนื่องจากท่านถือว่า มนุษย์เป็นทัมมะ คือ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และด้วยการฝึกหรือการศึกษาตลอดชีวิตนี้ มนุษย์จะกลายเป็นสัตว์ที่ประเสริฐที่สุด มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ และด้วยการฝึกฝนพัฒนาตนหรือการศึกษาที่ไม่หยุดยั้งของมนุษย์นี่เองก็เป็น “ภาวิตัตตะ” คือเป็นผู้ที่แม้แต่เทวดา พระอินทร์ พระพรหมก็ต้องบูชา (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต),2530 หน้า. 71)
แต่ถ้าหากมนุษย์ไม่มีการเรียนรู้หรือฝึกฝน อบรมตนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์จะไม่มีความประเสริฐ เพราะว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่โดยลำพังถ้าไม่มีการฝึกตนจะสู้สัตว์ชนิดอื่นไม่ได้เลย กิจกรรมที่มนุษย์กระทำอยู่ทุกวันนี้ทุกอย่างได้มาจากการเรียนรู้ และการฝึกฝนพัฒนาตนเองทั้งสิ้น(พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2539หน้า. 110)
ชีวิตที่ไม่มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตจะทำให้โอกาสที่ดี ๆ ของชีวิตสูญเสียไป และเป็นการตั้งอยู่ในความประมาท ดังนั้น การศึกษาเพื่อให้เกิดความใฝ่รู้ต้องตระหนักถึงความไม่ประมาทด้วยการนึกถึงพุทธพจน์บทที่ว่า “อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺญา มรณํ สุเว ความเพียรในการฝึกฝน พัฒนาตนควรเริ่มลงมือกระทำ หากเราเสียชีวิตแล้ว จะไม่มีโอกาสได้ทำอีก ข้อความนี้จึงเป็นการกระตุ้นเตือนสติเพื่อให้เกิดการพัฒนา หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้ง 3 ด้าน ซึ่งครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งหมด คือ พฤติกรรมทางกาย จิตใจ และปัญญา
4. วิถีพุทธสู่วิถีชีวิต : วิถีแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง
การศึกษาในทัศนะของพระพุทธศาสนาคือ การศึกษาช่วยให้คนพัฒนาชีวิตที่ดีงาม มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โอกาสสังคมการศึกษาที่สร้างคนให้เป็นบัณฑิต และช่วยให้เครื่องมือแก่ บัณฑิตนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ใช่มองแค่ให้ผู้ศึกษามีอาชีพ มีการงาน และมีศิลปวิทยาเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังที่จะให้ผู้ศึกษาได้รับคุณค่าของการศึกษาที่แท้จริงทั้งภายในและภายนอกคือ การพัฒนากายกับจิต ระบบการศึกษาของพุทธศาสนาได้เริ่มพัฒนาผู้ศึกษาจากระดับพื้นฐานคือมุ่งแก้ปัญหาเรื่อง “ทิฏฐิ” ของมวลมนุษย์ เพราะทิฏฐิทำให้เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนเรื่องคติความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยม ดังนั้นกระบวนการศึกษาจะต้องพัฒนาทั้ง 3 ด้านพร้อม ๆ กัน ซึ่งครอบคลุมระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด คือ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2539 หน้า. 118-119)
4.1 ด้านพฤติกรรม
การพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ครบทั้งสามส่วนดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เพื่อให้เกิดความรู้เข้าใจถึงความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพและวางท่าทีอย่างถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น เช่น ดูเป็น ฟังเป็น กินเป็น บริโภคเป็น เป็นต้น อยู่ในส่วนของการพัฒนากายที่เรียกว่า กายภาวนา
4.2 ด้านจิตใจ
การพัฒนาจิตใจที่เรียกว่า จิตภาวนา คือ การที่จิตใจมีคุณธรรมความดีงามซึ่งแสดงถึงคุณภาพ ความเข้มแข็งมีประสิทธิภาพของจิตใจ นอกจากนั้น ยังหมายถึงการสร้างเสริมความรู้สึกที่สดชื่น เบิกบานผ่องใสให้แก่จิต
4.3 ด้านปัญญา
การพัฒนาด้านปัญญา ซึ่งเรียกว่า ปัญญาภาวนา ได้รวมทั้งพฤติกรรม ศีลธรรมความดีงามความรู้คิดหาเหตุผล การรู้เข้าใจถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย และนำความรู้มาแก้ปัญหา คนที่ได้รับการพัฒนาครบองค์ประกอบทั้งสามด้านแล้วอย่างนี้เรียกว่า “บัณฑิต”ดังพุทธพจน์ที่แสดงลักษณะของความเป็นบัณฑิตว่า “ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อ”
5. บทสรุป
การศึกษากับการพัฒนาความเป็นมนุษย์จึงเป็นการศึกษาที่ต้องพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง และส่งผลต่อชีวิตด้านในตัวของผู้เรียนจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการหลักไตรสิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ และปัญญา โดยวิธีการหลักที่ใช้ คือ การสร้างความรู้เชิงประจักษ์ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน จากการมีประสบการณ์ตรงด้วยการทำสมาธิและวิปัสสนาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้ผ่านการฝึกฝนทางกาย เช่น การเดินจงกรม การเคลื่อนไหวร่างกายแบบต่างๆ อย่างมีสติ การเรียนรู้ผ่านการทำงานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ การใคร่ครวญทางความคิดโดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน
เอกสารอ้างอิง
ขันทอง วิชาเดช. (2547). พุทธศาสนากับการพัฒนาค่านิยมทางการศึกษาในสังคมไทย. ชลบุรี : สาขาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). (2546). ทิศทางการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2539). สถานการณ์พระพุทธศาสนากระแสไสยศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2539). การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2527). ค่านิยมแบบพุทธ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เทียนวรรณ.
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2530). ทางสายกลางของการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พรินติ้ง กรุ๊ฟ.
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (2529). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พุทธทาสภิกขุ. (2517). การศึกษา คืออะไร. กรุงเทพฯ : สมชายการพิมพ์.
รุ่ง แก้วแดง. (2541). ปฏิวัติการศึกษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
สนิท ศรีสำแดง. (มปพ.). พุทธศาสนากับหลักการศึกษา : ภาคทฤษฎีแห่งความรู้. กรุงเทพฯ : นีลนาราการพิมพ์.
สัญญลักษณ์ เทียมถนอม บรรณาธิการ. (2538). การศึกษาไทยในสถานการณ์โลก. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มิติใหม่.
องค์การยูเนสโก. (2539). Learning: The Treasure Within. 1996.
เป็นประโยชน์อย่างมาก การพัฒนาการศึกษาที่ดี เราต้องอยู่ในศีล มีสติ มีสมาธิ มันถึงจะเกิดปัญญาที่ดี
ตอบลบเป็นโครงการที่ดีครับ
ตอบลบน่าสนใจ และประประโยชน์มากครับ
ตอบลบได้แง่คิดว่า การเรียนรู้ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนเพื่อสอบ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความสามารถ เพื่อพัฒนาสังคม โดยการนำหลักธรรมทางศาสนา มาช่วยพัฒนาตนเองและสังคม
ตอบลบขอขอบพระคุณสำหรับบทความนี้คะ
ตอบลบนมัสการ
ตอบลบวันทา
อภิวาท
พระเดชพระคุณ พระสมุห์สุรเชษฐ์ หนูเอี่ยม ที่เคารพ
ท่านเป็น กัลยาณมิตร และ ศิลปทายก รวมความว่าท่าน คือ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ
กราบเท้าขอบพระคุณที่มีความปราณีต่อเวไนยสัตว์ ทำให้ผมมีโอกาสได้รู้ขึ้นกว่าเดิม
กราบเท้าขอบพระคุณ ท่าน และ ที่มาของข้อมูลความรู้ ขอนมัสการนำไปเล่าต่อทุกรูปแบบ
ผลานิสงส์ที่เกิดขึ้นขอให้ ท่าน และ ผู้เกี่ยวข้องอันประเสริฐ ทุกท่าน จงได้รับ
ขอแสดงความนับถือ
สุรวงศ์ วัฒนกูล
0816383402