บทความที่ได้รับความนิยม

วันจันทร์, มกราคม 24, 2554

การศึกษากับทางเลือกของประชาชน

การศึกษากับทางเลือกของประชาชน
วนิดา เลิศทองคำ*

บทนำ
                   เมื่อพูดถึง การศึกษา ก็จะนึกไปถึงโรงเรียนหรือสถานศึกษา อันเป็นระบบการให้ความรู้แก่ประชาชนที่รัฐจัดขึ้น  โดยเชื่อกันว่าเป็นระบบการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่ดีที่สุด  แม้กระทั่งคิดกันว่าถ้าไม่มีโรงเรียนก็ ไม่มีความรู้ นี่เป็นโลกทัศน์ความเข้าใจของสังคมไทยที่เกิดขึ้นมานานกว่าร้อยปี  นับแต่เรามีระบบโรงเรียนเรื่อยมา  บนความเชื่อที่ว่า  การศึกษาคือเครื่องมือพัฒนามนุษย์ที่สำคัญที่สุด  เราจึงได้เห็นกระแสการปรับตัวของระบบการศึกษาที่กำลังดำเนินไปทั่วโลก  เสียงเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา  ซึ่งไม่ผูกติดอยู่เพียงกับการศึกษาในระบบ  แต่ยังมีการศึกษาที่เป็นทางเลือก  ได้แก่ การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัย  สำหรับพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์  ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงความหมายอย่างกว้างขวางของ ความรู้ และ การศึกษา  อันเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต  (สุชาดา  จักรพิสุทธิ์, 2546 : 6)

1. ความหมายและความสำคัญของการศึกษาทางเลือก
                   1.1 ความหมายของการศึกษาทางเลือก
                                การศึกษาทางเลือก ( Alternative Education) เป็นการศึกษาเชิงอุดมคติ เพื่อแสดงถึงคุณลักษณะของรูปแบบการศึกษาที่ไม่ใช่การศึกษาแบบเดิม มักจะถือว่าเป็นโรงเรียนอิสระ ( Free School) หรือเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ไม่มีสถาบันการศึกษา (non-institutional) และยึดชุมชนเป็นหลัก (community – base) ลดบทบาทของการจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียน และหากเป็นการจัดการศึกษาในโรงเรียน ก็จะเป็นการจัดการศึกษาแบบก้าวหน้า (progressive) การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) หมายถึง การจัดการศึกษาที่หลากหลายเพื่อตอบสนองตอบต่อความต้องการของผู้เรียนที่ไม่ประสงค์จะเรียนในระบบการศึกษาตามปกติ ซึ่งมีเหตุผลมาจากพื้นฐานของบุคคลตามปรัชญาความเชื่อทางการศึกษาและการเรียนรู้ หรือตามปรัชญาความเชื่อทางการเมือง ปรัชญาความเชื่อทางศาสนาและความศรัทธา หรือเป็นการสนองความต้องการส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะมิใช่การศึกษาที่จัดให้กับบุคคลทั่วไป หรือแม้กระทั่งการสนองตอบของบุคคลที่จะปฏิเสธระบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในการศึกษาระบบปกติ การศึกษาทางเลือกไม่ใช่แค่เรื่องกระบวนการ หรือวีการ แต่เป็นทัศนะในการมองการจัดการศึกษาที่เห็นว่า สามารถกระทำได้หลากหลายหนทาง วิธีการ โครงสร้างการจัดการสภาพแวดล้อมทางการศึกษา รวมทั้งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และสังคมมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยจัดสรรให้ทุกคนได้รับการศึกษาด้วยการจัดสรร ดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการเติบใหญ่พัฒนา  ซึ่งศาสตราจารย์ วิจิตร ศรีสอ้าน (2545 : 16-18) กล่าวว่าทำอย่างไร จึงจะเกื้อหนุนให้เป็น Education for All และเป็น Lifelong Education ได้ บางครั้งอาจต้องมีการผสมผสานรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดและการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเกิดขึ้นจริงได้ในที่สุด
                           จากความหมายดังกล่าวข้างต้น การจัดการศึกษาทางเลือกในปัจจุบันสามารถเห็นได้จากรูปแบบของโรงเรียนวิถีธรรม โรงเรียนวิถีธรรมชาติ การสอนแบบ Home-based learning หรือ Home-school เป็นต้น ซึ่งมีจุดเน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหาหลักสูตร การจัดบรรยากาศให้เข้ากับวิถีของชุมชน และความเชื่อเป็นหลัก  ซึ่งสามารถมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปรงในมิติต่างของการศึกษาทางเลือก ดังต่อไปนี้ (ยุทธชัย เฉลิมชัย, บรรยายวันที่ 18 ธ.ค. 2552) 
                           1) ในมิติของการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการ
                                   การศึกษาทางเลือก คือ การมาของสิ่งใหม่ การริเริ่มสร้างความก้าวหน้าใหม่ๆ เมื่อการศึกษาในกระแสหลักเดิมถูกตั้งคำถาม เกิดความล้มเหลว และไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การศึกษาทางเลือกคือความพยายามในการแก้ปัญหา จากการแสวงหานวัตกรรม วิถีทางใหม่ เพื่อนำเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ให้เกิดการพัฒนาในก้าวต่อไป อันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่จะต้องมีสิ่งใหม่เข้าแทนที่สิ่งเก่าในลักษณะของวิวัฒนาการ เช่นเดียวกับแนวทางเลือกอื่นๆ เช่น เกษตรกรรมทางเลือกเศรษฐศาสตร์ทางเลือก เทคโนโลยีทางเลือก พลังงานทางเลือก การแพทย์ทางเลือก เป็นต้น
                           2) ในมิติของความแตกต่างหลากหลาย
                                   การศึกษาทางเลือก คือ การจัดการศึกษาที่มีความแตกต่างไปจากการศึกษาตามแนวกระแสหลักทั่วไป ทั้งในทางกระบวนทัศน์หรือปรัชญาความเชื่อ เนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนรู้ วิธีการวัดและประเมินผลการศึกษา ตลอดจนการบริหารจัดการศึกษา การมีอยู่ของการศึกษาทางเลือกเป็นการยืนยันว่าการศึกษาไม่ใช่เส้นตรงเพียงเส้นเดียวเฉพาะการศึกษาในระบบ แต่จะต้องมีทางเลือกของการศึกษาเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่ทำให้คนแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันโดยธรรมชาติสามารถประสบความสำเร็จได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพของตน ภายใต้ศรัทธาและความเชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ ว่าจะสามารถค้นพบศักยภาพภายในตนได้ในที่สุด แล้วสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง ชุมชน และสังคม
                           3) มิติการให้คุณค่ากับมนุษย์ 
                                   การศึกษาทางเลือก คือ การจัดการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปัญญาและหัวใจ เป็นภาพสะท้อนของการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ พูดตามภาษาชาวพุทธ มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเป็นพุทธะอยู่ในตัว มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสัตภาวะระดับสูง  การศึกษาจึงต้องเป็นการพัฒนามนุษย์ให้มีวุฒิภาวะที่สูงส่งยิ่งขึ้นไป ให้มนุษย์ได้เรียนรู้จักศักยภาพด้านในของตน และพัฒนาขึ้นไปรับใช้ตัวมนุษย์เอง รับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รับใช้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และโลกธรรมชาติในฐานะที่มีพันธะสัญญาอันสูงส่ง
                           4) ในมิติของสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาของประชาชน
                                   การศึกษาทางเลือก คือ ความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมในสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน บุคคลและครอบครัวพึงมีสิทธิที่จะเลือกรับการศึกษาเรียนรู้ตามความเชื่อ ความต้องการและความจำเป็นตามพื้นฐานแห่งชีวิตของตน ครอบครัว และชุมชน ตราบที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของสังคม 

                   1.2 ความสำคัญของการศึกษาทางเลือก
                           คำว่าการศึกษาทางเลือกของประชาชน ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  มาตรา 49 ระบุว่า การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพ หรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชนการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ การที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติกล่าวถึงการศึกษาเลือกของประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการสะท้อนนัยยะต่อไปนี้ คือ ประการแรก เป็นการยืนยันความมีอยู่จริงของการศึกษาทางเลือก ที่คู่ขนานกับการศึกษากระแสหลักตลอดมา   ประการที่สอง เป็นการรับรองสิทธิและความชอบธรรมให้กับการศึกษาทางเลือก รัฐจะต้องให้ความคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเหมาะสม  และประการที่สาม เป็นการยอมรับว่าถึงเวลาแล้วที่การศึกษาไทยจะต้องสร้างวิถีทางของการศึกษาอันมีความหลากหลาย เปิดเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการความแตกต่างได้อย่างมีเสรีภาพ ด้วยการส่งเสริมบทบาท  การมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของภาคประชาสังคมต่างๆ เช่นเดียวกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเรียนรู้ของโลกยุคใหม่ ที่สื่อและเทคโนโลยีพัฒนาแพร่หลาย เข้าถึงได้ง่าย ได้ขยายพรมแดนของการศึกษาเรียนรู้ให้กว้างใหญ่ไปกว่าการท่องบ่นจดจำตำราอย่างจำกัดตัวเอง เสรีภาพและโอกาสในการเข้าถึงความรู้ขยายตัวพร้อมกับความเป็นไปได้ ที่คนแต่ละคนจะสามารถวางแผนกำหนดวิธีการและขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือมีการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning) ทำให้การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่และก้าวเข้าไปอยู่ในโลกของความเป็นจริงยิ่งขึ้น (ยุทธชัย เฉลิมชัย, บรรยายวันที่ 18 ธ.ค. 2552)




2.  กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อการสร้างจุดเปลี่ยนทางการศึกษา
                   อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่าถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิงมาถึงปัจจุบันคงต้องกล่าวว่า ไม่เพียงแค่เปลี่ยนวิธีคิด แต่ถึงขั้นต้องปฏิวัติทางจิตวิญญาณกันทีเดียว ต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ คือจิตสำนึกที่นำเรากลับไปสู่ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงศักยภาพในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในความเป็นมนุษย์ เพียงแต่เราจะมุ่งศึกษาเรียนรู้ไปในทางใดให้สอดคล้อง สมศักดิ์ศรีทรัพย์สมบัติล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบมาให้นี้ ให้เป็นไปเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
                   การจะพูดถึงจุดเปลี่ยนของการศึกษามาสู่การศึกษาทางเลือก ซึ่งอันที่จริงการศึกษาทั้งสองกระแสใหญ่ควบคู่กันมาโดยตลอดคือ กระแสหลักกับกระแสรองหรือกระแสทางเลือก โดยที่กระแสรองหรือกระแสทางเลือกจะเกิดขึ้นหลังกระแสหลักที่เริ่มเข้าสู่ภาวะแข็งตัวไม่มีศักยภาพตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้ กระแสรองจะช่วยให้อารยธรรมทางการศึกษาหนึ่งๆ เปลี่ยนผ่านจากสภาพหยุดนิ่งตายตัวไปสู่การกระทำที่มีพลังเคลื่อนไหวและยืดหยุ่น ซึ่งปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทย คือโลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่ระบบการศึกษาของเราไม่เปลี่ยนหรือเปลี่ยนไม่ทัน  เมื่อกระแสหลักตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงไม่ได้  จึงเป็นโอกาสของกระแสทางเลือก  ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอน ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้ และนันทนาการ  (สุมาลี สังข์ศรี, 2544 : 27 - 9)

3. ทางสามแพร่งที่แตกต่างทางการศึกษา  
                   ด้านการศึกษาที่มีความหลากหลาย แต่ก็ยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ยังขาดการปรับปรุงกฎระเบียบที่จะขจัดอุปสรรคและเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือการเรียนรู้ในรูปแบบการศึกษาที่มีความแตกต่างออกไปได้อย่างแท้จริง ซึ่งในที่นี้ขอกล่าวถึงการจัดการศึกษาที่ดำเนินการอยู่ ใน 3 รูปแบบ  ซึ่งมีความความสัมพันธ์เชื่อมโยงและผสมผสานระหว่างการ  การศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยจะได้นำเสนอความสำคัญของการศึกษาแต่ละประเภท ดังนี้  (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2545 : 1-40)
                   1)  การศึกษาในระบบ (Formal Education)
                           การศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) เป็นการศึกษาที่จัดขึ้นโดยมีโครงสร้าง กฎ ระเบียบต่างๆ ค่อนข้างตายตัว เช่นในเรื่องของการแบ่งระดับชั้นการเรียนการสอน อายุของผู้เรียน การกำหนดหลักสูตร การกำหนดเวลาเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเรียนเต็มเวลา มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้สอนและผู้เรียน การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนของแต่ละระดับชั้น มีเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวในการวัดและประเมินผล การเรียนการสอนเกิดขึ้นในสถานที่หรือที่จัดขึ้นโดยเฉพาะได้แก่ โรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย (สุมาลี สังข์ศรี, 2544 : 26)
                           การศึกษาในระบบจะมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ดังที่ ทองอยู่  แก้วไทรฮะ (2544 : 7-8) อธิบายว่าประกอบด้วย
                                   1.1) เป็นการจัดการเรียนการสอนอยู่ภายในโรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นหลัก มีการจัดบรรยากาศการเรียนรู้และวิถีการปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นโลกเฉพาะของสถานศึกษา ระหว่างครู ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียน นักเรียนมีการแต่งกายที่มีเครื่องแบบ มีการจัดระดับเหมือนกันทั่วประเทศไทย และแยกเป็นโรงเรียนรัฐบาล เอกชน และโรงเรียนสังกัดสถาบันอุดมศึกษาอย่างชัดเจน
                                   1.2) กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชน มีการกำหนดวัยของผู้เรียนไว้ชัดเจน มีเกณฑ์อายุในแต่ละระดับชั้น ตั้งแต่อายุ 6 ปี ถึงประมาณ 24 ปี
                                   1.3) มีโครงสร้างของระบบที่แน่นอน เป็นไปตามลำดับพัฒนาการของเด็กและเยาวชนที่แผนการศึกษาแห่งชาติทุกฉบับจะระบุประเภทของการศึกษา ระดับการศึกษาจำนวนชั้นปี และเกณฑ์อายุผู้เรียนทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการศึกษา บังคับตามกฎหมายที่มีความสำคัญสำหรับผู้เรียนและสถานศึกษามาก เพราะจะเป็นเครื่องกำกับตัวผู้เรียนให้เข้าสู่ระบบด้วยอายุที่เท่ากันและทำให้ เกิดความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน 
                           จึงสรุปได้ว่า การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่มีรูปแบบและโครงสร้างของหลักสูตร ระยะเวลาการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลตามระดับการศึกษาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอนตายตัว มีเงื่อนไขที่สำเร็จการศึกษาแน่นอน และมีใบประกาศนียบัตรรับรองการจบในแต่ละช่วงชั้นปี โดยจัดให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ในเกณฑ์อายุที่จะต้องได้รับการศึกษาในระบบเหมือนกันทั้งประเทศ
                   2) การศึกษานอกระบบ (Nonformal Education)
                           การศึกษานอกโรงเรียน  เป็นการจัดกิจกรรมการศึกษาที่จัดขึ้นนอกโรงเรียนปกติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการเป็นประชาชนที่อยู่นอกโรงเรียน มีวัตถุประสงค์ในการเรียนที่ชัดเจน โดยมีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับสภาพความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย มีลักษณะสำคัญคือ มีหลักสูตร เวลาเรียน มีการลงทะเบียน มีการประเมินผลเพื่อรับประกาศนียบัตรไม่จำกัดอายุ เป็นการเรียนนอกโรงเรียน เป็นการเรียนเรื่องที่เป็นสภาพปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน มีเวลาเรียนที่ไม่แน่นอน  (สนอง โลหิตวิเศษ, 2544 : 13)
                           การศึกษานอกระบบมีคุณลักษณะหลักๆ 4 ประการ คือ
                           2.1) สัมพันธ์กับความต้องการของกลุ่มด้อยโอกาส
                           2.2)  เกี่ยวข้องกับบุคคลเฉพาะกลุ่ม
                           2.3) มีจุดประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน และ
                           2.4) มีความยืดหยุ่นในองค์กรและวิธีการ
                           สรุปได้ว่า การจัดการศึกษานอกระบบ จึงเป็นการจัดกิจกรรมทางการศึกษาที่มีหลายรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ด้อยโอกาสได้เรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันมีการจัดหลักสูตร การวัดประเมินผล แต่มีความยืดหยุ่นในวิธีการ เช่น ไม่จำกัดในเรื่องของสถานที่ ระยะเวลา เนื้อหา หลักสูตร สามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปตามความพร้อมและความต้องการ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการเรียนรู้และสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแก้ปัญหาหรือปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
                   3) การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education)
                           การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การได้รับความรู้ ทักษะ เจตคติ จากประสบการณ์ประจำวัน ในครอบครัว ชุมชน จากการทำงาน การเล่น ห้องสมุด สื่อมวลชนและอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมของบุคคล  (สุนทร สุนันท์ชัย,2532 : 10) เป็นกระบวนการตลอดชีวิต ที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน จากบุคคล จากครอบครัว จากสื่อ จากชุมชน จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต (ปฐม นิคมานนท์, 2532 : 112)
                           ลักษณะที่สำคัญของการศึกษาตามอัธยาศัย คือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอบ ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่ เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต
                           สรุปการศึกษาตามอัธยาศัย จึงเป็นกระบวนการศึกษาที่บุคคลได้รับจากเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน และเกิดการสะสมสิ่งที่ได้เรียนรู้ที่ได้รับจากทักษะ ประสบการณ์ ครอบครัว สภาพแวดล้อม การทำงาน การพักผ่อน แหล่งเรียนรู้และสื่อที่มีอยู่มากมาย เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากความสนใจใฝ่รู้ของบุคคล หรือถึงแม้ไม่สนใจ แต่บุคคลสามารถรับรู้และสัมผัสได้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างไม่รู้ตัว เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเงื่อนไขของเวลา สถานที่ และอายุของผู้เรียนมาเป็นตัวกำหนด ไม่มีการรับใบประกาศนียบัตร และเกิดขึ้นกับบุคคลตลอดชีวิต และสามารถที่จะนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ที่เกิดขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการดำเนินชีวิต
                   ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการศึกษาทุกรูปแบบทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต่างมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันที่จะส่งเสริมให้บุคคลได้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีรูปแบบและวิธีการจัดที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายได้รับบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึง เสมอภาคและเป็นธรรม อันเป็นจุดมุ่งหมายในการพัฒนาของทุกประเทศ โดยพยายามมองการศึกษาในภาพรวม ซึ่งรวมเอาการศึกษาในระบบ (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Nonformal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ให้มีการประสานสัมพันธ์ทั้งในด้านของความต่อเนื่องของเวลา (ชั่วชีวิตคน) และเนื้อหา (สาระที่คนต้องนำความรู้ไปใช้) ซึ่งการศึกษาตลอดชีวิตจะต้องมีลักษณะที่ยืดหยุ่นในด้านเวลา สถานที่ เนื้อหา และเทคนิคการเรียนการสอน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning) การแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และมีใจกว้างยอมรับว่าการเรียนรู้มีหลายรูปแบบ

4.  เจตนารมณ์ของการศึกษาทางเลือก
                   การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากไม่เกิดผลต่อตัวผู้เรียน ล้มเหลวในเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ เนื่องจากไปมุ่งปฏิรูปโครงสร้างองค์กรมากกว่าที่จะมุ่งปฏิรูปการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็ไม่เกิดผลต่อการพัฒนาครู ทั้งยังทำให้ครูดีครูเก่งหลุดออกไปจากระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น ตลอดจนยังยึดติดอยู่ในอำนาจในระบบวิธีการแบบเดิม จึงไม่สามารถทำให้สังคมโดยรวมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้  เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของการศึกษาทางเลือก 6 ประการ (ยุทธชัย เฉลิมชัย, บรรยายวันที่ 18 ธ.ค. 2552)  ได้แก่
                   1)  การพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
                           การศึกษาไม่ใช่แค่เพื่อความเป็นพลเมือง ตอบสนองต่อแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ แต่คือวิถีของการพัฒนาเพื่อให้พ้นจากสัญชาตญาณของสัตว์ ความเห็นแก่ตัว ด้วยมนุษย์จะเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ได้ก็จากผลของการศึกษาเรียนรู้
                           การศึกษาต้องมีศรัทธาต่อมนุษย์ในฐานะชีวิตที่มีทั้งปัญญาและหัวใจ คนทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนไปสู่คุณค่าอันสูงส่งคือความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีอิสรภาพในทางจิตวิญญาณ มีความสุขและความสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ได้ เพื่อให้พ้นจากความคับแคบของการศึกษาแบบบริโภคนิยมที่มองมนุษย์ในฐานะทรัพยากรเพียงผลิตคนเข้าสู่ตลาดจ้างงาน ภายใต้ค่านิยมการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกัน ควรความเป็นมนุษย์อยู่เหนือวัตถุ ด้วยสามารถเข้าถึงมิติทางนามธรรม ระบบคุณค่า ความรับผิดชอบชั่ว-ดี  มนุษย์จึงไม่เพียงแต่มีความสามารถในการเรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง ค้นพบและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ หากยังวินิจฉัยไตร่ตรองแยกแยะบาป-บุญได้ด้วย จากผลของการเรียนรู้ที่ไม่ละเลยมิติทางนามธรรมหรือมิติทางจิตวิญญาณ เมื่อเรียนรู้อย่างไม่ขาดหายมิติทางจิตวิญญาณ การเรียนรู้ก็สามารถนำไปสู่ภาวะที่พุทธศาสนาเรียกว่าปัญญามีความตื่น เบิกบาน ประจักษ์แจ้งในความจริงตามที่เป็นจริง ครองตนอยู่ในคุณธรรมความดีงาม เกิดวิถีของการดำเนินชีวิตบนความไม่ประมาท รู้จักประมาณ ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น
                    2)  ทางเลือกหลากหลายอันเป็นภาวะตามธรรมชาติ
                           การศึกษาไม่ใช่การผลิตซ้ำแบบเครื่องจักร แต่คือความละเอียดประณีตของการถักสานจิตวิญญาณและศักยภาพการเรียนรู้ในตัวมนุษย์แต่ละคน
                           การศึกษาต้องสร้างวิถีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ ที่คนแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไปทั้งในลักษณะ ลีลา ความถนัด ความสนใจ ความพร้อม รวมถึงสภาพแวดล้อมในวิถีชีวิตครอบครัว โดยที่ทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้อย่างน้อยก็ในทางใดทางหนึ่ง  ด้วยการเปิดโอกาสสร้างทางเลือกของการศึกษาเรียนรู้ที่ทำให้แต่ละคนได้แสดงออก ได้ค้นพบตัวเองพบทั้งข้อเด่นข้อด้อยที่จะต้องส่งเสริมและแก้ไข เกิดพัฒนาการในทางพรสวรรค์ให้โดดเด่นขึ้นมาอย่างมีความสมดุลกับพัฒนาการด้านอื่นๆ จนสามารถประสบความสำเร็จได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพของตนการมีความแตกต่างหลากหลายทางการศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกแยกขัดแย้ง      แต่คือหลักการ  การทำโรงเรียน(การศึกษา)ให้เหมาะสมกับเด็ก ไม่ใช่ทำเด็กให้เหมาะสมกับโรงเรียน หรือที่ปราชญ์ชาวบ้านบอกว่า  คือ  การตัดเกือกให้เข้ากับตีน ไม่ใช่ตัดตีนให้เข้ากับเกือก
                   3) การสร้างสรรค์วิถีการเรียนรู้ที่สมดุลและผสมผสาน
                           การศึกษาไม่ใช่การเรียนหนังสือไปตามแบบเรียนเล่มใดเล่มหนึ่ง แต่คือการเรียนรู้เพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้กับชีวิต ในเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมองค์รวมความเป็นทั้งหมดของชีวิต
                           การศึกษาต้องนำไปสู่ความรู้เท่าทัน บนพื้นฐานของความสมดุลและการผสมสาน ที่กำลังเป็นทิศทางใหม่ของโลกภายหลังการเปลี่ยนแปลง คือการพยายามหลุดออกจากวัฒนธรรมในระบบทุนนิยมเสรีหรือวัตถุนิยมแบบแข่งขันเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งความหลงในการพัฒนาเทคโนโลยีไม่มีขีดสุดจนทำลายธรรมชาติและเกิดภัยคุกคามครอบงำมนุษย์ ด้วยการสร้างสรรค์วัฒนธรรมวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ใฝ่หาชุมชนที่สงบสันติ ในความสัมพันธ์ต่อกันที่มีความซื่อตรงและความรู้สึกพอเพียง เป็นมิตรต่อตนเอง ผู้อื่นและธรรมชาติ
                   4) การสร้างสรรค์วิถีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับธรรมชาติในการเรียนรู้ของมนุษย์
                           การศึกษาไม่ใช่การเรียนแค่ตัวความรู้ แต่คือการเรียนวิธีการเรียนรู้ เพื่อการก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของความรู้ ของโลกและชีวิต ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและทวีความซับซ้อนมากขึ้นทุกที
                           การศึกษาต้องสร้างความสุขในการเรียนรู้ ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ไม่แยกออกจากกัน วิชาการกับวิถีชีวิตเป็นเนื้อเดียวกัน เรียนรู้จากความเป็นจริง เรียนรู้แล้วนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เกิดความรักในการเรียนรู้ รู้ได้หลากหลาย รู้เชื่อมโยง รู้สร้างสรรค์ รู้ได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เหล่านี้เป็นต้น
                           การศึกษาอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีผลให้เกิดการเรียนรู้เลยก็ได้ หากเป็นแค่การสอนหนังสือหรือเรียนเฉพาะข้อมูลความรู้ทางวิชาการ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงภายในแต่ละบุคคล คนทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้ดี เมื่อรู้สึกสนุกหรือมีความสุขกับการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ อารมณ์ ความสนุก แรงบันดาลใจ จึงมีความสำคัญเพื่อสร้างความพร้อมต่อการเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างให้เกิดความหมายเกิดการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องที่กำลังเรียนกับประสบการณ์เดิม และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีภาคปฏิบัติให้ผู้เรียนได้ลงมือทำอย่างอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงมากที่สุด การศึกษาจึงควรเปลี่ยนไปเป็นการเรียนรู้เปลี่ยนจากครูเป็นผู้บอก มาเป็นผู้เรียนสามารถสร้างทางเลือกและเรียนรู้ด้วยตนเองได้ คือเป็นการเรียนรู้ที่เกิดมาจากภายในตัวผู้เรียน และทำให้รู้เพื่อที่จะเป็น” (being) เพื่อที่จะสร้างสรรค์ให้ได้มากที่สุด
                   5) การค้นพบตนเองและนำทางให้ประสบความสำเร็จได้ตามศักยภาพของตน
                           การศึกษาไม่ใช่สนามรบของการแย่งชิงแข่งขันคัดออก แต่คือสนามแม่เหล็กที่ดึงดูดทุกคนเอาไว้ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีและความสามารถของคนทุกๆ คน
                           การศึกษาจะต้องเป็นกระบวนการของการพัฒนาเพื่อช่วยสร้างความสุขความสำเร็จให้กับคนทุกคนตามศักยภาพของตัวเขา การศึกษาที่โหดร้ายก็คือการศึกษาที่สร้างการแข่งขันและพิพากษาให้คนต้องหดหู่สิ้นหวังจากการสูญเสียความมั่นใจในตนเอง  ทั้งๆ ที่ความผิดพลาดมาจากตัวระบบการศึกษา แต่ผู้รับเคราะห์กลับเป็นเด็กๆ ดังเช่นในเรื่องมาตรฐานคุณภาพ เป็นที่รู้กันว่าโรงเรียนทั้งหลายโดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐ จำนวนมากมายมีคุณภาพที่ย่ำแย่และไม่มีมาตรฐานที่ทัดเทียมกัน เป็นอย่างนี้มาเนิ่นนานจนสะท้อนได้ว่า ระบบการศึกษาล้มเหลวในการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน แต่กลับกลายไปเป็นปัญหาของตัวเด็กที่จะต้องแข่งขันกันเอาเป็น       เอาตายเพื่อหาทางให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่เชื่อกันว่ามีคุณภาพ เรื่องมาตรฐานเรื่องความทัดเทียมในคุณภาพการศึกษาที่ไม่มีอยู่จริงในระบบการศึกษากลับกลายเป็นตราบาปไปลงโทษเอากับเด็กๆ ที่ไม่สามารถสอบเข้าเรียนโรงเรียนดังๆ ได้
                   6) การศึกษาเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
                           การศึกษาไม่ใช่เครื่องแสดงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยรัฐ แต่คือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะตัดสินใจเลือกวิถีทางแห่งอนาคตของตนเอง ด้วยตนเอง
                           การศึกษาจะต้องทำให้คนอยู่ได้และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในท้องถิ่นของตน ผลสำเร็จของการศึกษาที่แท้จริงจะต้องนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน-สังคมโดยรวม ความผิดพลาดสำคัญข้อหนึ่งในระบบการศึกษาไทย คือทำให้คนทิ้งท้องถิ่นทิ้งบ้านเกิด กระทั่งอาจถึงขนาดดูถูกถิ่นฐานผู้คนในพื้นเพเดิมของตน เพราะเป็นการศึกษาที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จส่วนตัว จากการเข้ารับใช้รับจ้างภาคธุรกิจในเมืองมากกว่าที่จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพขึ้นมาได้เอง มีทักษะวิชาชีพในภาคอุตสาหกรรม-บริการ มากกว่าภาคเกษตรกรรมที่เป็นพื้นฐานทั่วไปของท้องถิ่น จึงยิ่งเรียนสูงก็ยิ่งเลื่อนลอยจากสภาพความเป็นจริงของถิ่นฐาน ยิ่งติดค่านิยมทางวัตถุต้องใช้ชีวิตแบบคนเมืองใช้แรงงานไม่เป็นแล้ว 
                           การศึกษาที่เป็นของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน จะต้องเริ่มต้นจากความเคารพในภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ในฐานะสมบัติล้ำค่าที่จะช่วยให้เรารู้จักตนเอง มีรากหยั่งลงลึกจนเพียงพอต่อการพุ่งทะยานขึ้นไปอย่างไม่หักโค่นลงมาง่ายๆ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน ภูมิรู้ภูมิธรรมของชุมชนองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ตลอดจนวิถีชีวิตและภาวการณ์ที่เป็นจริงอยู่ในปัจจุบันของชุมชน ในนามของหลักสูตรท้องถิ่น ก็เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและความปักใจที่จะมีส่วนร่วมในชะตากรรมทุกอย่างของบ้านเกิดเมืองนอนของตน เป็นเรื่องพื้นฐานเรื่องแรกที่จะยืนยันได้ถึงการมอบคืนการศึกษาให้กับชุมชน คืนเด็กๆ ลูกหลานให้กับชุมชน

5.  การบูรณาการทางการศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชน
              ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาความทันสมัยในรูปของการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาแก่ประชาชนมากขึ้น  การศึกษาจึงมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงไปโดยมีลักษณะที่ไม่จำกัดอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือจำกัดอยู่เฉพาะในรั้วโรงเรียน ดังที่  Peter  Drucker กล่าวว่า ความรู้ไม่มีพรมแดน  (Knowledge Knows no boundaries) (อ้างในไพรัช ธัชยพงษ์ และพิเชฐ      ดุรงคเวโรจน์, 2541 : 4)  เมื่อความรู้ไม่มีพรมแดนกั้น  โอกาสในการแสวงหาความรู้จึงเปิดกว้างซึ่งเข้ามาทุกทิศทุกทาง  ฉะนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปรงอย่างรวดเร็ว 
                   นโยบาย การปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 รองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งเรื่องวิธีการคิด วิธีการเรียนการสอน จากสถาบัน และชุมชนเองก็ตระหนักที่จะเข้าไปมีบทบาทกับกระบวนการเรียนรู้ของลูกหลาน  องค์รวมของกระบวนการสร้างสรรค์และสืบสานภูมิปัญญาของเยาวชนไทย จากรุ่นหนึ่งสู่อีกหนึ่ง ผ่านเรื่องราว กิจกรรมทั้งในชีวิตจริงและจำลองขึ้น ผ่านประวัติศาสตร์ของการดิ้นรนต่อสู้ สังสรรค์ทางวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อแต่ละศาสนา แต่ละชุมชน ซึ่งนี่ก็คือ"การศึกษาเพื่อชีวิต" ทางเลือกของการเรียนรู้ที่สำคัญสัมพันธ์ทั้งตนเอง ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ  ในรูปของกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถแบ่งได้หลากหลายรูปแบบ ดังนี้ (พนม พงษ์ไพบูลย์, 2544 : 7)
                           1) กลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น ป่า ทะเล กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้หญิง เป็นต้น เหล่านี้คือกลุ่มเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งแต่ละกิจกรรมต่างก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่พวกเขา ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตขึ้นมา ซึ่งการศึกษาทางเลือกนั้นเป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทัศนคติ พัฒนาการคิด การเชื่อ พัฒนาจิตใจ จิตวิญญาณเป็นหลัก
                           2) กลุ่มภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่พ่อครูแม่ครู จัดอบรมให้แก่เด็ก ทั้งเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ทั้งหมอกลางบ้าน หมอพื้นบ้าน เรื่องแพทย์สมุนไพร เหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน หรือผู้สนใจ
                           3) กระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อ คนทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นคนทำ web ต่างก็ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ให้กับคนที่เปิดเว็บเข้าไป หรือคนที่จัดรายการวิทยุดีๆ รายการโทรทัศน์ดีๆ เช่น รายการทุ่งแสงตะวัน เป็นต้น
                           4) การศึกษาในรูปแบบกลุ่มทางศาสนา อย่างเช่น สวนโมกข์ ที่จัดอบรมเรื่องอาณาปาณสติ เรื่องศาสนา หรืออย่างชุมชนอโศกที่จัดการศึกษาเรื่องความเป็นมนุษย์ ก็ถือว่าเป็นการศึกษาทางเลือกเช่นกัน เพราะทำให้เกิดการเรียนรู้จักการดำเนินชีวิต
                           5) สถาบันนอกระบบรัฐ ได้แก่ กลุ่มกิจกรรมทางการศึกษาที่มีเจตนาในการจัดการเรียนรู้แก่กลุ่มเป้าหมายของตน ในรูปแบบกระบวนวิชา การฝึกอบรม การบรรยาย เช่น สถาบันการเรียนรู้ขององค์กรพัฒนาเอกชน ศูนย์ ชมรม อาทิ สำนักแม่ชีเสถียรธรรม มหาลัยเที่ยงคืน วิทยาลัยวันศุกร์ มหาวิชชาลัยชุมชนปักษ์ใต้  โรงเรียนใต้ร่มไม้ โรงเรียนชาวนา  เป็นต้น
                           6) สถาบันที่อิงระบบรัฐ อย่างโรงเรียนต่างๆ ที่จัดการศึกษาให้เด็กๆ นอกหลักสูตร เช่น พาเด็กๆ ไปเรียนรู้วิถีชาวบ้าน เรียนรู้กับพ่อครูแม่ครู ก็นับได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งเป็นการศึกษาทางเลือกเช่นกัน
                           7) Home school หรือการจัดการศึกษาเองในครอบครัว ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก สำหรับเด็กที่ชอบสนุกกับการเรียนอยู่กับบ้าน มากกว่าโรงเรียน
                   อนาคตของโรงเรียนทางเลือก ต้องเป็นโรงเรียนทางเลือกของคนทุกระดับจริงๆ คนรวย คนจน สามารถเรียนได้ อย่าลืมว่าคนรวยก็เป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาส  ขาดโอกาสได้มาสัมผัสชีวิตชุมชน สัมผัสชีวิตคนจน เขาไม่รู้หรอกว่าจนจริงๆ แล้วจนยังไง การคิดถึงคนจนคิดยังไง ตรงนี้คนรวยขาดโอกาส ดังนั้น ทำยังให้คนทุกระดับเข้าโรงเรียนทางเลือกได้ เช่น เก็บค่าเทอม ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บเท่ากัน อย่างคนจนจริงๆ ก็ไม่ต้องเสีย แต่ทำงานช่วยแทนได้ 

บทสรุป
                   บทบาทการศึกษาทางเลือกในอนาคต จำเป็นและสำคัญมาก เนื่องจากสังคมปัจจุบันกำลังป่วยหนัก เพราะการศึกษาซึ่งเป็นยาหม้อใหญ่ ไม่สามารถตอบสนองอาการป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ ทางสมอง มีแต่ความกังวล ความเครียด ความทุกข์ การหย่าร้าง หรือผิดหวังมากๆ ก็เครียด เด็กหลายคนขลุกอยู่กับเกมส์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อมองการศึกษา ทำให้เห็นว่า ไม่รองรับการพัฒนาในทุกๆ ด้านของเด็ก มิติของชีวิตบางมิติ ไม่ได้รับการพัฒนา สมองบางส่วนที่มีหน้าที่ในการเจริญเติบโต พัฒนาตามวัย แต่ไม่ได้รับการเรียนรู้หรือใช้มัน ทำให้คนในปัจจุบันนี้กระด้างมากขึ้น ในบางเรื่องบางอย่าง ขาดความละเอียดอ่อนในชีวิต ขาดความกลมกล่อม สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ในครอบครัวเองก็คุยในภาษาที่ต่างกันมาก สื่อความหมายกันยากขึ้นเรื่อยๆ ทะเลาะกันในปัญหาที่ง่ายขึ้น สังคมวุ่นวาย ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มาจาก พื้นฐานการศึกษาที่ไม่เอื้อให้มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ เป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดปัญหาเชื่อมโยงไปอีกหลายๆ มิติ





                   การศึกษาเป็นทางเลือกในการพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ของประชาชน  ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมต่อระบบที่หลากหลายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน  เพื่อกระบวนการพัฒนาที่มีความยั่งยืน  โดยต้องเชื่อมการศึกษาในระบบ  การศึกษาทางเลือก และการศึกษาตามอัธยาศัยเข้าด้วยกัน อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน  ให้เหมาะสมกับชีวิตของเขา  มีปรัชญา  หลักสูตร  วิธีการ  เป้าหมาย ล้วนเป็นอิสระ หมายความว่า เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะท้องถิ่นของเขา ไม่ได้เข้ามาผูกพันกับตัวปรัชญาหลักสูตร  วิธีการของรัฐเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป  แต่จะต้องเกิดขึ้นภายใต้ภาคีต่าง ๆ ได้แก่  ภาคประชาชน  ภาครัฐ  และภาคธุรกิจ  ที่ช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา เพื่อนำพาประเทศผ่านวิกฤตการศึกษาออกไปได้  ดังคำกล่าวของ อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน ที่ว่า ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้  ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง


เอกสารอ้างอิง
ทองอยู่ แก้วไทรฮะ. (2544). ประมวลสาระชุดวิชา ปรัชญาและหลักการศึกษานอกระบบ หน่วยที่ 1-5. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์ครั้งที่ 1.
ปฐม นิคมานนท์. (2532). การศึกษานอกระบบโรงเรียน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา.
พนม พงษ์ไพบูลย์. (2544, มกราคม). เข้าใจคำว่าการศึกษาตามอัธยาศัย จากคนทำงานที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด. วารสารการศึกษานอกโรงเรียน. 4(4) : 7.)
ไพรัช  ธัชยพงษ์ และพิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์. (2541). รายงานการวิจัยประกอบการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ประเด็นเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา. กรุงเทพฯ :  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.
ยุทธชัย เฉลิมชัย. (บรรยายวันที่ 18 ธันวาคม 2552)  ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ยุทธชัย เฉลิมชัย. (2547 , กรกฎาคม). บ้านเรียน บนรากฐานของความรัก และความหลากหลาย. วารสารสานปฏิรูป. 7(75) : 90 – 91.
วิจิตร ศรีสอ้าน. (2545). การเรียนรู้ตลอดชีวิต. สออ.ประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สันติศิริการพิมพ์.
สนอง โลหิตวิเศษ. (2544). ปรัชญาการศึกษาผู้ใหญ่ และการศึกษานอกระบบ. ภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่ คณะศึกษาศาสตร์, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. อัดสำเนา.
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ และคนอื่น ๆ. (2548). การศึกษาทางเลือก : โลกแห่งการเรียนรู้นอกโรงเรียน. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สุนทร สุนันท์ชัย. (2532). วิวัฒนาการการศึกษานอกระบบของไทย  การศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษานอกระบบ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.
สุมาลี สังข์ศรี. (2544). รายงานการวิจัยการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 21.กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). แผนการศึกษาแห่งชาติ (2545-2559). กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิค จำกัด.



*นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษาและภาวะผู้นำ  มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น รุ่น 7

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น