การศึกษาตามอัธยาศัยกับการพัฒนาสุขภาพของประชาชน
นางสาวมยุรา นพพรพันธุ์*
บทนำ
ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพของประชาชนในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าสุขภาพของคนไทยโดยรวมดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาสาธารณสุขที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อทำให้เกิดโรคมากมาย การที่คนเราจะมีสุขภาพดีหรือไม่ ปัจจัยหนึ่งคือการมีความรู้และทัศนคติหรือความเชื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวัน จนเกิดมีภาวะสุขภาพที่ดี ความรู้ที่คนเราจะมีได้นั้นส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกโลกาภิวัฒน์ที่ความรู้มีอยู่หลากหลายให้เลือกศึกษา ดังนั้นการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสุขภาพตามความต้องการของคนเรา หรือเรียกว่าการศึกษาตามอัธยาศัยจึงเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะพัฒนาภาวะสุขภาพของคนในสังคม
ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย และ การพัฒนาสุขภาพ
การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน จากบุคคล จากครอบครัว จากชุมชน จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอน ไม่มีการรับประกาศนียบัตร อาจมีหรือไม่มีสถานที่แน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งยังไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต (กรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2538: 83)
การศึกษาตามอัธยาศัย จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ที่เติมเต็มความต้องการของปัจเจกที่ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ นอกเหนือการเรียนในระบบโรงเรียน โอกาสของการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเกิดขึ้น ในสถานที่ต่างๆ และจากสื่อต่างๆที่มีอยู่ โดยถือเป็นการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่บุคคลสามารถหาทางเลือกของตนเอง และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างไม่มีขีดจำกัด
*นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษาและภาวะผู้นำ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น รุ่น 7
สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์และเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ สุขภาพจึงมีความหมาย 3 ประการ คือ ความปลอดภัย (Safe) ความไม่มีโรค (Sound) หรือทั้งความปลอดภัยและไม่มีโรค (Whole) ดังนั้น ความหมายของคำว่า “สุขภาพ” จึงหมายถึง ความไม่มีโรคทั้งร่างกายและจิตใจ (Soundness of or mind)
พฤติกรรมสุขภาพ หมายถึง การปฏิบัติหรือการแสดงออกของบุคคลในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำในสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพของตนเอง โดยอาศัยความรู้ ความเข้าใจ เจตคติ และการปฏิบัติตนทางด้านสุขภาพด้านต่าง ๆ คือสุขภาพกาย จิตใจ/อารมณ์ และสังคม ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างสมดุล
การแสดงออกของพฤติกรรมสุขภาพ อาจแสดงได้เป็น 2 รูปแบบ คือ พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลปฏิบัติแล้วส่งผลดีต่อสุขภาพของบุคคลนั้นๆ เอง และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หรือพฤติกรรมเสี่ยง อันหมายถึงพฤติกรรมที่บุคคลปฏิบัติแล้วอาจนำไปสู่การเกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของตนเองและผู้อื่น การพัฒนาสุขภาพจึงเป็นกระบวนการที่เพิ่มพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ และควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น
แหล่งให้ความรู้ด้านสุขภาพในการเรียนรู้ตามอัธยาศัย
การเรียนรู้ตามอัธยาศัยในด้านสุขภาพนั้น เกิดขึ้นได้ในสถานที่ต่างๆ อาทิเช่น เรื่องเล่าภายในครอบครัว เพื่อนบ้าน ชุมชน สถานที่ทำงาน สถานบริการสาธารณสุข ห้องสมุด ร้านอินเตอร์เน็ต โดยผู้เรียนสามารถรับความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ตัวอย่างเช่น รายการวิทยุกระจายเสียง รายการโทรทัศน์ สารคดี ภาพยนตร์ โปสเตอร์ แผ่นพับความรู้ Website ต่างๆ ส่วนวิธีการเรียนรู้อาจจะได้จากประสบการณ์โดยตรงหรือโดยอ้อมของตนเอง เรียนรู้จากการทำงาน การบอกเล่าของบุคคลต่างๆ การสอนหรือคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลอื่นๆในWeb board
พฤติกรรมการเรียนรู้ในการพัฒนาสุขภาพของผู้เรียนในการศึกษาตามอัธยาศัย
การเรียนรู้ตามอัธยาศัย นั้น Schugurensky (2000) ได้เสนอแนะว่ามี 3 ประเภท คือ การเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง(Selfdirected learning) การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ(Incidental learning) และการ เรียนรู้ในชีวิตประจำวัน
การเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง(Self-directed learning) เป็นโครงการเรียนรู้ที่กำหนดโดยผู้เรียนเอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากนักการศึกษา แต่อาจจะเป็นการนำเสนอของวิทยากร การเรียนรู้แบบนี้ เป็นเรื่องของความตั้งใจ เพราะผู้เรียนมีจุดหมายในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องการเรียนรู้ สิ่งนั้นอาจมาก่อนที่กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องของจิตสำนึกโดยปัจเจกบุคคลตระหนักว่าเขาต้องเรียนรู้ในบางสิ่งบางอย่าง
การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ(Incidental learning) หมายถึง ประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมิได้มีความตั้งใจมาก่อนว่าจะต้องเรียนสิ่งนั้น แต่เมื่อได้รับประสบการณ์ เขาก็รับรู้ได้ว่าเขาได้เรียนรู้บางอย่างขึ้นมา ดังนั้น จึงเป็นความไม่ตั้งใจแต่รู้สึกตัว (unintended but conscious
การเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน(Tacit learning) เป็นการรู้ในคุณค่า ทัศนคติ พฤติกรรม หรือทักษะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มิใช่เพียงแค่
การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (meaningful learning) ที่มีลักษณะ 5 ประการ (Shuell & Moran, 1994: อ้างใน สุปรียา ตันสกุล.2544 :2-3) คือ
1. ผู้เรียน เป็นผู้กระทำกับข้อมูลที่ได้รับด้วยตนเอง
2. ผู้เรียนแต่ละคนรับรู้ ตีความข้อมูลใหม่ ขึ้นอยู่กับ ความรู้เดิม เจตคติที่เขามีอยู่
3. การเรียนรู้ใหม่ ต้องสัมพันธ์กับความรู้เดิม จึงจะเกิดความหมาย
4. ผู้เรียนจัดการกับกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยตัดสินว่า ตนจะทำอะไรต่อไป โดยใช้กระบวนการกำกับตนเอง การรับรู้ความสามารถตนเอง
5. ผู้เรียนต้องกำหนดทิศทาง ความคาดหวังว่า การเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดประโยชน์อะไรกับเขา
จากที่กล่าวมาข้างต้น การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมภายใน และพฤติกรรมภายนอก ดังแผนภาพที่ 1
การแปลงความรู้สู่การปฏิบัติด้านสุขภาพ
การจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สามารถบูรณาการแนวคิดทฤษฎีและเทคนิควิธีการ จากนักจิตวิทยาสุขภาพ นักจิตวิทยาการศึกษา และนักจิตวิทยาการเรียนการสอน นำเสนอเป็นปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ 4 ปัจจัย คือ
1. ผู้ให้ความรู้หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาที่ถ่ายทอด มีทักษะการถ่ายทอด และเป็นตัวอย่างที่ดีทางด้านสุขภาพ
2. กลุ่มเป้าหมาย ผู้ให้ความรู้พึงต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด และคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
3. วิธีการให้ความรู้ เป็นการเน้นที่กลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก (client-centered) นั้นคือ การเอาตัวผู้เรียน เป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่การกระทำ ในสภาพแวดล้อมด้วยตัวเขาเอง ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ก็ต้องให้ความสำคัญ ว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร ต้องใช้วิธีการให้เขารู้ว่า Why am I doing this task ? Can I do this task ? What do I expect ? How do I feel about this task ? เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านปัญญา (Cognition) ซึ่งรวมความรู้สึก ความเชื่อ (affection) เข้าไว้ด้วย รวมทั้งการปฏิบัติทางด้านสุขภาพ (practice) ที่เป็นทักษะต่างๆ ซึ่งแยกพฤติกรรมออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ พฤติกรรมที่เป็นทักษะ / การปฏิบัติ และพฤติกรรมที่เป็นพฤติกรรมภายใน
4. บรรยากาศการเรียนรู้ จำแนกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (physical environment) ได้แก่ สถานที่ การจัดเก้าอี้ ขนาดของห้อง อุณหภูมิ แสง เสียง เป็นต้น ถ้าสถานที่ให้ความรู้อยู่ในบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน ผู้สอนและผู้เรียนย่อมขาดสมาธิ ขาดความสนใจ และอีกประเภทหนึ่ง คือ สิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยา (psychological environment) ซึ่งได้แก่ ความเป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียด มีการสนับสนุน ให้กำลังใจ ซึ่งความยากของสิ่งที่เรียนรู้มีความสัมพันธ์กับระดับความเครียด และความพยายามในการเรียนรู้
การเรียนรู้เพื่อจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับ 1) ได้ฝึกทำด้วยตนเอง และทำซ้ำๆ เช่น ต้องการให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย ก็ต้องให้เขาลงมือออกกำลังกาย 2) ทำแล้วได้รับความพอใจ และ 3) จะทำหรือไม่ทำ ขึ้นอยู่กับความพร้อม ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ เมื่อผู้ป่วยออกกำลังกายแล้ว ทำถูกหรือไม่ ซึ่งเขาควรต้องได้รับข้อมูลป้อนกลับ (feedback) จึงจะเกิดการสร้างการเรียนรู้ทั้งในเชิงความรู้ (Cognition)และการปฏิบัติ (Performance) อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพที่ถาวร
การจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (ดังภาพที่ 3)
ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ สิ่งที่มีอิทธิพลสำคัญประการหนึ่งคือ แรงจูงใจ (Motivation) อันเป็นแรงเสริมให้กระทำกิจกรรมต่างๆ สำเร็จตามจุดประสงค์ ซึ่งแรงจูงใจสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ ประเภทแรกแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) ซึ่งเป็นแรงผลักดันเกิดขึ้นภายในจิตใจและความสนใจ รวมถึงการมีทัศนคติต่อสิ่งหนึ่ง ประเภทที่สองแรงจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) อันเป็นความมุ่งหมายซึ่งมีจุดประสงค์ให้ปฏิบัติเป็นระยะเวลานาน เพื่อตอบสนองจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดขึ้น ธรรมชาติของมนุษย์มีความรู้สึก ความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อตอบสนอง โดยที่การตอบสนองต้องเกิดจากแรงจูงใจเพื่อให้การตอบสนองนั้นบรรลุผล
กิจกรรมในการให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งภายในและภายนอก หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านจิตลักษณะหรือความคิด และพฤติกรรมการแสดงออกทางกายโดยให้อยู่บนพื้นฐานแนวคิด 3 Self คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง (Self-care) มีการกำกับตนเอง (Self-regulation) ให้มีสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องได้ด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Self-efficacy)
สำหรับผู้ให้ความรู้ควรให้ความรู้โดยคำนึงถึงหลักปฏิบัติตามหลัก PROMISE คือ การเสริมแรงทางบวก (Positive reinforcement) บริหารจัดการโครงการด้วยหลักการบริหารตามผลสัมฤทธิ์ของงาน (Result based management) ให้มองโลกแง่ดี (Optimism) มีการสร้างแรงจูงใจ (Motivation) ให้ยึดผู้เรียนรู้เป็นศูนย์กลาง (Individual or client center) หลักการเสริมสร้างคุณค่าในตนเองแก่ผู้เรียน (Self-esteems) โดยสามารถใช้เทคนิควิธีการเรียนรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่หลากหลายได้
บทสรุป
พฤติกรรมของมนุษย์มีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้ซึ่งการพัฒนาพฤติกรรมมนุษย์ทำให้มนุษย์สามารถปรับพฤติกรรมของตนให้เหมาะสมและสามารถดำรงอยู่ได้ โดยสอดคล้องกับชีวิตประจำวันและสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม การที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนได้ จึงต้องศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ กระบวนการต่างๆ อย่างเป็นระบบต่อเนื่องระยะยาว เพื่อให้ได้ถึงองค์ความรู้ที่จะนำ มาสู่การสร้างเสริมปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรม (Behavior Modification) กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพและความเจ็บป่วยนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกทางสุขภาพให้เกิดขึ้น (Health Concious) ซึ่งจิตสำนึกของบุคคลเป็นผลที่ตกผลึกมาจากความรู้ การอบรมบ่มเพาะ การเรียนรู้และประสบการณ์ส่วนบุคคล ตั้งแต่ในวัยเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เอกสารอ้างอิง
กรมการศึกษานอกโรงเรียน. 2538. การศึกษาตามอัธยาศัย. กรุงเทพมหานคร: หน้า 83 2
กระทรวงศึกษาธิการ. 2546. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
ลือชา วนรัตน์, นันทา อ่วมกุล, จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ, ตรึงตา พูลผลอำนวย และเอื้องฟ้า คงเอี่ยมตระกูล.
มปป.โครงการวิจัยพฤติกรรมสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาพ. รายงานการวิจัยสำนักงานคณะกรรมการ
วิจัยแห่งชาติ.กรุงเทพ.
วสันต์ ศิลปสุวรรณ,ชนิณัฐ วโรทัย, ธราดล เก่งการพานิช, วรพรรณี รุง่ ศิริวงศ์, สุปรียา ตันสกุล, มังกร ประพันธ์
วัฒนะและคณะ. 2544 โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาสุขภาพคนไทย:พฤติกรรมสุขภาพคนไทย.รายงานการ
วิจัย สำ นักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.กรุงเทพ.
วิศนี ศิลตระกูล และ อมรา ปฐภิญโญบูรณ์. 2544. การศึกษาตามอัธยาศัย: จากแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสู่
แนวปฏิบัติ.ศูนย์ส่งเสริมการศึกษา ตามอัธยาศัย กรมการศึกษานอกโรงเรียน.
17 กรกฎาคม, 2553
สุปรียา ตันสกุล.2544. กระบวนการเรียนรู้กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ. เอกสารประกอบการบรรยาย
ในการประชุมสัมมนา เวทีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับชาติวันที่ 7 มิถุนายน 2544 ณ โรงแรม
แอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี
The Informal Education Homepage http://www.infed.org 9 กรกฎาคม, 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น