การศึกษากับการพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิตพยาบาล
พนิตนาฎ ชำนาญเสือ*
บทนำ
สภาพการณ์ปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศประเทศไทย ทั้งที่เป็นปัญหาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและธรรมชาติต่างๆที่มากระทบต่อประชาชนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลระยะยาว บุคลากรทางด้านสุขภาพโดยเฉพาะในบทบาทของวิชาชีพพยาบาลมีความสำคัญและจำเป็นในการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างมีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสำหรับผลิตบัณฑิตพยาบาล จำเป็นเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา โดยกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ ตลอดจนการรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสถาบันทุกแห่งให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกันได้ทั้งในระดับชาติและระดับสากล สอดคล้องกับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศกระทรวงศึกษา เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาการพยาบาลศาสตร์ พ.ศ.2552 ดังนั้น การจัดการศึกษา จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างบัณฑิตพยาบาลให้เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะทางปัญญา มีความรับผิดชอบ และสามารถสื่อสารละสร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนปฏิบัติการพยาบาลอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ
การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
อุดมศึกษา หมายถึง การศึกษาที่สูงขึ้นจากระดับมัธยมศึกษา คำว่า อุดมศึกษา มีรากศัพท์มาจากศัพท์ภาษาบาลี "อุตม" หมายถึง สูงสุด และศัพท์ภาษาสันสกฤต “ศึกฺษา” หมายถึง การเล่าเรียน ดังนั้น คำว่า "อุดมศึกษา" จึงหมายถึง การเรียนขั้นสูงสุด การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนช่างไหม รวมถึงโรงเรียนมหาดเล็ก แต่ยังไม่สามารถให้การศึกษาถึงขั้นปริญญาได้ ในปัจจุบัน การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. กระทรวงศึกษาธิการ
*นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษาและภาวะผู้นำ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น รุ่น 7
ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด 157 แห่งทั่วประเทศ (2553) โดยแบ่งเป็น สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 78 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาล 14 แห่ง สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 69 แห่ง วิทยาลัยชุมชน 19 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดการศึกษาโดย มหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือ บัณฑิตวิทยาลัย ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เช่น วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ กระทรวงกลาโหม วิทยาลัยพยาบาล ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้โรงเรียนสาธิตก็ยังสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอีกด้วย(ที่มา http://th.wikipedia.org/)
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา
ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวดที่ 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา 47 กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วยระบบประกันคุณภาพภายในและระบบประกันคุณภาพภายนอก จึงเห็นสมควรให้จัดทำกรอบมาตรฐานการอุดมศึกษา และเพื่อเป็นการประกันคุณภาพของบัณฑิตในแต่ละระดับคุณวุฒิและสาขาวิชา รวมทั้งเพื่อใช้เป็นหลักในการจัดทำมาตรฐานด้านต่างๆ เพื่อให้การจัดการศึกษามุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันในการผลิตบัณฑิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งหมดนี้ โดยมี วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นกรอบมาตรฐานให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา ให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเพื่อประโยชน์ต่อการรับรองมาตรฐานคุณวุฒิในระดับอุดมศึกษา โดยกรอบมาตรบานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย ระดับคุณวุฒิ ได้แก่ ระดับที่ 1 อนุปริญญา ระดับที่ 2 ระดับปริญญาตรี ระดับที่ 3 ประกาศนียบัตรบัณฑิต ระดับ 4 ปริญญาโท ระดับที่ 5 ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง และระดับปริญญาเอก สำหรับ คุณภาพของบัณฑิตทุกระดับคุณวุฒิและสาขาวิชาต่างๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดและต้องครอบคลุมอย่างน้อย 5 ด้าน คือ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญา ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในสาขา/สาขาวิชาที่เน้นทักษะทางปฏิบัติต้องเพิ่มมาตรฐานผลการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย โดยมาตรฐานผลการเรียนรู้แต่ละด้านของแต่ระดับคุณวุฒิและลักษณะของหลักสูตรอย่างน้อยต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการอุดมศึกษากำหนดไว้ในแนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาการพยาบาลศาสตร์
การรักษาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ ของสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกันได้ทั้งในระดับชาติและระดับสากล จึงมี ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ. 2552 โดยมีชื่อสาขา พยาบาลศาสตร์ (Nursing Science) ชื่อปริญญา พยาบาลศาสตรบัณฑิต (พย.บ.) Bachelor of Nursing Science: B.N.S. ลักษณะของสาขา ทั้งนี้ สาขาพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ต้องปฏิบัติโดยตรงต่อชีวิต สุขภาพและอนามัยของประชาชนด้วยความเอาใจใส่ อย่างเอื้ออาทร จึงจำเป็นต้องใช้ศาสตร์ทางการพยาบาล ศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หลักการและทักษะการปฏิบัติเพื่อให้การพยาบาลแบบองค์รวมแก่ผู้ใช้บริการที่เป็นบุคคล ครอบครัว ชุมชน ในทุกภาวะสุขภาพ ทุกวัย และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถดูแลตนเองได้ทั้งในภาวะสุขภาพดีและเจ็บป่วย จัดการและตัดสินใจกับภาวะสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม การจัดการเรียนการสอนจึงมุ่งให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างคุณภาพมีความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ใช้บริการโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิต และคุณค่าของชีวิตมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน การจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ต้องมีความสอดคล้องกัน จึงจะช่วยผู้เรียนให้สามารถนำความรู้ภาคทฤษฎีไปใช้ในการปฏิบัติได้ ดังนั้น การเรียนการสอนภาคทฤษฎี การเรียนในห้องปฏิบัติการพยาบาลในสถานการณ์จำลอง และการปฏิบัติในสถานการณ์จริงจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ มีทักษะทางปัญญามีความรับผิดชอบ และสามารถสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนปฏิบัติการพยาบาลอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ ดังจะเห็นได้จากลักษณะของสาขา นำไปสู่การกำหนดคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ดังนี้
1.มีความรอบรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาล และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง สามารถประยุกต์ได้อย่างเหมาะสมในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นพื้นฐาน และศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น
2.สามารถให้การพยาบาลได้อย่างเป็นองค์รวม แก่ผู้ใช้บริการทุกช่วงวัย ทุกภาวะสุขภาพ ทุกระดับของสถานบริการสุขภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยใช้ศาสตร์และศิลปะทางการพยาบาล และหลักฐานเชิงประจักษ์ ภายใต้กฎหมายและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
3.มีความสามารถคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุผล คิดอย่างมีวิจารณญาณ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ทั้งในการปฏิบัติการพยาบาลและสถานการณ์ทั่วไป
4.สามารถใช้การวิเคราะห์เชิงตัวเลข และใช้สถิติได้อย่างเหมาะสมในวิชาชีพ
5.มีคุณธรรม จริยธรรม เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความรับผิดชอบ และมีความเอื้ออาทร
6.มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีภาวะผู้นำ สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานเป็นทีมกับ สหวิชาชีพ
7.มีความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรทางสุขภาพ
8.สนใจใฝ่รู้และสามารถพัฒนาตนเอง วิชาชีพ และสังคมได้อย่างต่อเนื่อง
9.สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการพยาบาลและการสื่อสาร
10.มีศรัทธาในวิชาชีพการพยาบาล รวมทั้งมีความเชื่อมั่นในการพยาบาล และคุณค่าแห่งตน
ทั้งนี้ สาขาพยาบาลศาสตร์ กำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ 6 ด้าน ที่สอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาแห่งชาติ และลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของสาขาพยาบาลศาสตร์ที่กำหนดไว้ ดังนี้
1.คุณธรรม จริยธรรม
1.1มีความรู้ ความเข้าใจในหลักศาสนา หลักจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ ตลอดจน สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สิทธิผู้บริโภค สิทธิผู้ป่วย ตลอดจนสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการพยาบาล
1.2ความสามารถแยกแยะความถูกต้อง ความดี และความชั่วได้
1.3เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
1.4มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
1.5มีระเบียบวินัย และซื่อสัตย์
1.6ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีความสามารถจัดการกับปัญหาจริยธรรมในการดำรงชีพ และในการปฏิบัติงานในวิชาชีพ
1.7เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่นทั้งในการดำรงตนและการปฏิบัติงาน
1.8ส่งเสริมให้ผู้ป่วย/ผู้ใช้บริการได้รับรู้ และเข้าใจสิทธิของตนเองเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองที่จะถูกละเมิด
2.ความรู้
2.1มีความรู้และความเข้าใจในสาระสำคัญของศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานชีวิตและพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ กฎหมายและการปกครองระบอบประชาธิปไตย
2.2มีความรู้และความเข้าใจในสาระสำคัญของศาสตร์ทางวิชาชีพทางการพยาบาล ระบบสุขภาพ และปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและต่อระบบสุขภาพ
2.3มีความรู้และความเข้าในสาระสำคัญของกระบวนการพยาบาลและการนำไปใช้
2.4มีความรู้และความเข้าใจในสาระสำคัญของกระบวนการแสวงหาความรู้การจัดการความรู้กระบวนการวิจัย กระบวนการบริหารและการจัดการองค์กร
2.5มีความรู้และความเข้าใจในสาระสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศทางการพยาบาล และระบบจำแนกข้อมูลทางการพยาบาล
2.6มีความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรม สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของประเทศ และสังคมโลกที่มีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพและประชาชน
3.ทักษะทางปัญญา
3.1ตระหนักรู้ในศักยภาพและสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของตน เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปสู่การปฏิบัติการพยาบาล การสอน การแสวงหาความรู้ที่มีประสิทธิภาพ และการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง
3.2สามารถสืบค้น และวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
3.3สามารถนำข้อมูล และหลักฐานไปใช้ในการอ้างอิง และแก้ไขปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ
3.4สามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาชีพและที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง ใช้ประสบการณ์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ในการให้บริการการพยาบาล
3.4สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทางการวิจัย และนวัตกรรมที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา
3.5สามารถพัฒนาวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบททางสุขภาพที่เปลี่ยนไป
4.ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
4.1มีความสามารถในการปรับตัวเชิงวิชาชีพและมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับผู้ใช้บริการ ผู้ร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา
4.2สามารถทำงานเป็นทีมในบทบาทผู้นำและสมาชิกทีม ในทีมการพยาบาล ทีมสุขภาพ และทีมชุมชนของระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับและในบริบทหรือสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
4.3สามารถแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในองค์กร ในสถานการณ์ที่หลากหลายและสถานการณ์เฉพาะหน้า
4.4มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อสังคม และรับผิดชอบในการ พัฒนาตนเอง วิชาชีพ องค์กรและสังคมอย่างต่อเนื่อง
5.ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
5.1สามารถประยุกต์ใช้หลักตรรกะ คณิตศาสตร์และสถิติ ในการพยาบาลอย่างเหมาะสม
5.2สามารถแปลงข้อมูลให้เป็นข่าวสารที่มีคุณภาพ รวมทั้งสามารถอ่านวิเคราะห์และถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารแก่ผู้อื่นอย่างเข้าใจ
5.3สามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการพูด การฟัง การอ่าน การเขียนและการนำเสนอ รวมทั้งสามารถอ่านวารสาร และตำราภาษาอังกฤษอย่างเข้าใจ
5.4สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานที่จำเป็น
5.5สามารถเลือกและใช้รูปแบบการนำเสนอสารสนเทศ ตลอดจนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์
6.ทักษะการปฏิบัติทางวิชาชีพ
6.1สามารถปฏิบัติทักษะการพยาบาลอย่างเป็นองค์รวมโยประยุกต์ใช้ศาสตร์และศิลปะทางการพยาบาล รวมทั้งใช้กระบวนการพยาบาล หลักฐานเชิงประจักษ์ และการสื่อสารเชิงบำบัดในการพยาบาลบุคคล ครอบครัว และชุมชน
6.2สามารถปฏิบัติการการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การบำบัดและการบรรเทาอาการ และการฟื้นฟูสุขภาพ แก่ผู้ใช้บริการทุกภาวะสุขภาพและทุกช่วงวัย รวมทั้งการผดุงครรภ์ ในทุกระดับของสถานบิกาสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (พ.ศ.2528) และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540
6.3สามารถปฏิบัติการพยาบาลด้วยความเมตตา กรุณา และเอื้ออาทร โดยยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม กฎหมาย และสิทธิของผู้ป่วย
6.4สามารถปฏิบัติการพยาบาลโดยคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล และความหลากหลายทางวัฒนธรรม
6.5แสดงภาวะผู้นำในการปฏิบัติงานสามารถบริหารทีมการพยาบาล ทีมสหสาขาชีพและการทำงานในชุมชน ในหน่วยบริการสุขภาพชุมชน
มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ นี้ มีสภาการการพยาบาลเป็นองค์กรวิชาชีพ ที่มีหน้าที่ควบคุมมาตรฐานการจัดการศึกษา โดยให้ความเห็นชอบหลักสูตรสาขาการพยาบาลศาสตร์ รับรองสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต และพิจารณาอนุมัติการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล
แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิต สาขาการพยาบาล
การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณลักษณะบัณฑิต สาขาการพยาบาล มีวิธีการบริหารกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนในสถาบันเพื่อให้เกิดผลการเรียนรู้ คือ บัณฑิตสาขาพยาบาลที่มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ มีดังนี้
1. การบริหารหลักสูตร
การบริหารหลักสูตร ตั้งแต่การดำเนินการนำมาตรฐานคุณวุฒิสาขาพยาบาลศาสตร์สู่การปฏิบัติ เริ่มจากการปรับหลักสูตรสาขาพยาบาลศาสตร์ โดยพิจารณาความพร้อมและศักยภาพของสถาบันในการจัดการศึกษาตามหลักสูตรในหัวข้อต่างๆที่กำหนดในมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ แต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาหลักสูตร เพื่อพิจารณาดำเนินการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรโยพิจารณาโครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาสาระสำคัญและผลการเรียนรู้ จัดทำรายละเอียดของรายวิชา มอบหมายผู้รับผิดชอบทั้งในระดับภาควิชา และผู้รับผิดชอบรายวิชา ทั้งนี้ ต้องมีการเสนอขออนุมัติรายละเอียดของหลักสูตรต่อสภาสถาบัน ก่อนเปิดการสอน หลังได้รับการอนุมัติแล้วก็สามารถมอบหมายอาจารย์ผู้สอนดำเนินการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ตลอดจนมีการประเมินผลและทวนสอบผลการเรียนรู้ พร้อมปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขเพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องมีการเผยแพร่หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิฯ ซึ่งสถาบันควรกำกับดูแลให้มีการรักษาคุณภาพให้มีมาตรฐานอยู่เสมอ
2. การจัดการเรียนการสอน
การจัดการเรียนการสอนทั้งส่วนที่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร และกิจกรรมในออกแบบรายวิชา โดยการจัดการเรียนการสอนในรายวิชานั้นให้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และชี้นำตนเองในการเรียนรู้ โดยมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม มีการออกแบบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ที่สามารถวัดและประเมินการมีส่วนร่วมของผู้เรียนได้อย่างชัดเจน และใช้วิธีการเรียนการสอนที่หลากหลายและเหมาะสมกับรายวิชาทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติในสถานการณ์จริง การสอนในหอผู้ป่วย และการสอนข้างเตียง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของผลการเรียนรู้ทั้ง 6 ด้านผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาผลการเรียนรู้ โดยใช้ปัญญาและหลักฐานเชิงประจักษ์ มีการประเมินความก้าวหน้าและประเมินสรุปรวม
3. การสนับสนุนการเรียนการสอน
การระบบสนับสนุนการเรียนการสอน ควรมีการจัดการให้มีคณาจารย์ ที่ต้องได้จำนวนละคุณวุฒิตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรและเกณฑ์สภาการพยาบาล ส่วนบุคลากรสนับสนุนการเรียนการสอน หรือผู้ช่วยสอนในห้องปฏิบัติการพยาบาลในจำนวนที่เหมาะสมกับจำนวนผู้เรียน และมีบุคลากรสนับสนุนการบริหารงานของสถาบันทั้งในงานบริหาร การเงิน และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ โสตทัศนูปกรณ์ ตลอดจนการจัดให้มีทรัพยากรการเรียนรู้ ได้แก่ อาคาร ห้องเรียน ห้องทำงาน สถานที่ทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร ห้องปฏิบัติการการพยาบาล ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องสมุดที่มีตำราหลักทางการพยาบาล วารสารในและต่างประเทศ ฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นสามารถให้บริการสะดวก เหมาะสม และทุกโอกาส โดยมีผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการและมีการประเมินคุณภาพ ประเมินความพึงพอใจของผู้เรียน และอาจารย์ เพื่อการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
4. การวัดและประเมินผล
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลายสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยการแบ่งสัดส่วนน้ำหนักการประเมินในแต่ละกิจกรรม หรือแต่ละด้านให้เหมาะสมกับผลการเรียนรู้ของรายวิชานั้นๆ ทั้งนี้ผู้สอนต้องแจ้งให้ผู้เรียนทราบ วิธีการประเมินผล ตลอดจนแจ้งให้ทราบผังการออกข้อสอบ ที่จะใช้วัดและประเมินผลด้านทฤษฎีล่วงหน้า นอกจากนี้ การประเมินจากการสอนภาคปฏิบัติ ใช้การแระเมินโดยสังเกตการณ์ปฏิบัติ การสอบภาคปฏิบัติในสถานการณ์จำลองและสถานการณ์จริง โดยวัดและประเมินทักษะปฏิบัติตามที่กำหนดในหลักสูตร และต้องนำผลการประเมินมาใช้เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ปรับปรุงตนเอง
5. การสร้างความสัมพันธ์ชุมชน
การสร้างความสัมพันธ์ชุมชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากชุมชน แล้วจัดการส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้เรียน ตลอดจนบูรณาการการเรียนรู้คู่กับการบริการวิชาการที่ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากห้องเรียนสู่การปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้เป็นอย่างดี
บทสรุป
การจัดการศึกษาพยาบาลที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาการพยาบาลศาสตร์ มีวิธีการบริหารกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนในสถาบันเพื่อให้เกิดผลการเรียนรู้ คือ บัณฑิตสาขาพยาบาลที่มีคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ ประการแรกการบริหารหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การสนับสนุนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล และประการสุดท้ายการสร้างความสัมพันธ์ชุมชน ทำให้เกิดผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานสู่บัณฑิตพยาบาลที่มีคุณภาพ
เอกสารอ้างอิง
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552. ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2552.
ประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552.ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2552.
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ.2552.ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552.
ดรุณี รุจกรกานต์. (2553). เอกสารการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ (มคอ.2) ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี และการพัฒนา Test Blueprint. มปท.
มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาการพยาบาลศาสตร์ พ.ศ.2552.เอกสารแนบท้าย ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ พ.ศ.2552
วิกพีเดีย สารานุกรมเสรี. อุดมศึกษา. ที่มา Web site: http://th.wikipedia.org/ fup. (วันที่สืบค้น 16 กันยายน พ.ศ.2553.)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น